ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน

ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน

เมื่อมองวงการกีฬาลูกหนัง เราจะเห็นความผูกพันแนบแน่นชนิดแยกไม่ออก ระหว่างสองขั้ว คือ สโมสรฟุตบอลกับวงการการเมือง ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพากัน เช่นเดียวกับวงการบันเทิง กีฬาและการเมือง ต่างแยกออกจากกันไม่ขาด

เรียกได้ว่า คนไทยค่อนประเทศต่างปลื้มกับ MV ใหม่ของลิซ่า ซึ่งเลือกใช้เยาวราชเป็นสถานที่ถ่ายทำ พร้อมกับยกย่องว่านี่เป็นวิธีการโปรโมต Soft Power ไทยอย่างทรงพลังที่สุด

คนที่ขยับตัวแล้วจะทำให้เกิดกระแสสังคมสูงระดับนี้ หรือที่เราเรียกว่า High-Impact Influencer มีอยู่ไม่มาก ซึ่งหลัก ๆ มักมาจากสองสาขาอาชีพ คือ ศิลปินนักแสดงและนักกีฬา

การทุบสถิติบน YouTube ด้วยยอดเข้าชมกว่า 32.4 ล้านครั้งภายใน 24 ชั่วโมงแรกซึ่งเป็นยอดที่มากที่สุดในปี 2567 นั้น ได้รับการกล่าวถึงอย่างชื่นชมจากคนทั่วทุกวงการ และหนึ่งในนั้น คือนักการเมือง ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไร แต่ก็จะมีกลุ่มคนที่ไม่ชอบพรรคการเมืองนั้น ๆ ออกมาวิจารณ์ว่า โหนกระแสความดังบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน  

พูดมาถึงตรงนี้ เราคงเห็นภาพตรงกัน ไม่ว่าจะวงการบันเทิง กีฬา หรือการเมือง ต่างแยกออกจากกันไม่ขาด นอกจากความสามารถในการแสดง ทักษะการเล่น หรือนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคแล้ว ความสำเร็จยังยึดโยงอยู่กับความนิยมชมชอบจากมหาชน

วิธีการและกระบวนการที่จะได้รับความนิยมดังกล่าวก็มีที่มาคล้ายคลึงกันมาก ไม่ว่าจะเป็น การจัดหาและจัดการทรัพยากร การบริหารตัวแสดง ผู้เล่น หรือผู้สมัคร และการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

สำหรับแวดวงกีฬาในไทย แม้เบื้องหน้าจะเน้นความเป็นยาวิเศษเพื่อสุขภาพ แต่ฉากหลังยังมีสิ่งที่ลึกซึ้งไปกว่านั้น โดยเฉพาะวงการฟุตบอล

ถ้าไม่นับรวมธุรกิจรายใหญ่จำนวนไม่น้อย ที่เข้าร่วมสนับสนุนวงการกีฬาลูกหนัง เพราะตระหนักถึงกระแสของกีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งประเภทนี้ ที่สามารถต่อยอดความนิยมไปถึงสินค้าและบริการของผู้สนับสนุนได้

ไม่ว่าจะเป็น เมืองไทยประกันภัย กับ การท่าเรือ เอฟซี, ทรู กับ ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด, ยามาฮ่า กับ เมืองทอง ยูไนเต็ด, และบริษัทเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีโลโก้แปะอกเสื้อทีมฟุตบอลนับไม่ถ้วน เป็นต้น

นอกจากเอกชนแล้ว นักการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ก็เป็นผู้สนับสนุนหลักสำคัญของกีฬาประเภทนี้อย่างจริงจัง ซึ่งถามว่าจริงจังขนาดไหน ตัวอย่างของความสนใจในวงการลูกหนังเห็นได้ชัดจากความดุเดือดในการประชันกัน เพื่อชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย ทั้งจากกลุ่มธุรกิจและกลุ่มการเมืองเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เมื่อมองไปทั่วประเทศ เราจะเห็นความผูกพันแนบแน่นชนิดแยกไม่ออกระหว่างสองขั้ว คือ สโมสรฟุตบอลกับวงการการเมือง ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างพึ่งพากัน

เพราะสโมสรฟุตบอลต้องการผู้ที่สามารถทุ่มเทและทุ่มทุนดูแลสโมสร ที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในขณะที่นักการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ต้องการอานิสงค์จากความชื่นชอบในสโมสรนั้น ๆ เชื่อมต่อมาถึงตนเองในฐานะผู้สนับสนุนหลัก

กล่าวง่าย ๆ คือ เมื่อสโมสรได้รับการสนับสนุนทุน ก็สามารถจัดหาทรัพยากรนักเตะและผู้จัดการทีมที่มีคุณภาพ มีงบประมาณไปใช้ในการบริหารจัดการ และย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จในการแข่งขันสูง เป็นที่ชื่นชอบของมวลชน ซึ่งก็จะแผ่ขยายต่อไปถึงผู้สนับสนุน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มการเมือง หรือนักการเมือง ตั้งแต่ท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ

เมื่อกวาดตามองไปยังสโมสรต่าง ๆ เราก็จะเห็นผู้สนับสนุนหลักที่เป็นบ้านใหญ่ทางการเมืองจำนวนไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ชลบุรี เอฟซี (คุณปลื้ม-สิงห์โตทอง), บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด (ชิดชอบ), ลีโอ เชียงราย ยูไนเต็ด (ติยะไพรัช),

ราชบุรี มิตรผล เอฟซี (นิติกาญจนา), แพร่ ยูไนเต็ด (ศุภศิริ-ปราศจากศัตรู), นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี (ลิปตพัลลภ-โตมรศักดิ์), ชัยนาท ฮอร์นบิล (นาคาศัย), ขอนแก่น ยูไนเต็ด (ช่างเหลา) เป็นต้น

เมื่อความสัมพันธ์ของการเมืองและกีฬาฟุตบอลเป็นเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นปรากฏการณ์ความเกี่ยวพันในความสำเร็จและความนิยมทั้งขาขึ้นและขาลงที่แปรผันตามกันสำหรับกีฬากับการเมือง

ตัวอย่างชัดเจนกับปรากฏการณ์ล่าสุด คือ ชลบุรี เอฟซี เมื่อทีมฉลามชล ตกชั้นไปอยู่ไทยลีก 2 หลังจากพ่ายแพ้ให้กับเมืองทอง ยูไนเต็ด ในการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก ฤดูกาล 2566–2567 นัดที่ 29 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ด้วยคะแนน 6 ต่อ 0

ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน

การตกชั้นของชลบุรี เอฟซี แบบไม่น่าเชื่อครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของวงการฟุตบอลไทย เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2549 ชลบุรี เอฟซี ถือเป็นทีมฟุตบอลชั้นนำที่โลดแล่นอยู่ในลีกสูงสุดของประเทศมาตลอด 18 ปี และเคยเป็นแชมป์ไทยลีก 2 สมัย นับเป็นส่วนหนึ่งในการปลุกกระแสความนิยมทีมฟุตบอลท้องถิ่นและการแข่งขันฟุตบอลไทยลีกขึ้นทั่วประเทศ

วันนี้เกิดอะไรขึ้น ?

ก็ต้องพาย้อนกลับไปดูที่มา ผู้ให้กำเนิดชลบุรี เอฟซี คือ สมาชิกของตระกูลการเมืองแห่งชลบุรีที่เป็นพันธมิตรกันสองตระกูล คือ คุณปลื้มและสิงห์โตทอง

ชาลินี สนพลาย ได้ศึกษาไว้ในวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “บทบาทของสโมสรชลบุรี เอฟซี กับการสร้างและรักษาฐานเสียงทางการเมืองของชลบุรี” ที่สะท้อนให้เห็นสายสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกตระกูลการเมือง กับการบริหารทีมฟุตบอลที่ส่งผลต่อความนิยมทางการเมืองอย่างละเอียด

เมื่อสมชาย คุณปลื้ม หรือกำนันเป๊าะ ที่เคยมีอิทธิพลสูงในพื้นที่จำเป็นต้องหลบหนีคดีทุจริตที่ดินเขาไม้แก้วและคดีจ้างวานฆ่าเมื่อปี 2549 ส่งผลให้เครือข่ายทางการเมืองของตนเองแพ้การเลือกตั้งแทบทุกตำแหน่งสำคัญ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) นายกเทศมนตรี และสมาชิกสภาเทศบาลเมืองชลบุรี

สนธยา คุณปลื้ม บุตรชายคนโต จึงหาทางปรับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสร้าง “กลุ่มเรารักชลบุรี” ให้กลับมายึดฐานที่มั่นในเวทีการเมืองให้ได้ รวมทั้งส่งวิทยา คุณปลื้ม อดีต สส. ชลบุรี กลับมาลงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชลบุรีในปี 2551 และส่งอิทธิพล คุณปลื้ม อดีต สส. ชลบุรีอีกคน ลงเลือกตั้งนายกเมืองพัทยาในปีเดียวกัน

แล้วก็ประสบความสำเร็จ แถมยังสร้างอานิสงค์ไปถึงกลุ่มเรารักชลบุรีให้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภา อบจ. ชลบุรี 33 จาก 36 คน และกลุ่มเรารักษ์พัทยาของอิทธิพล 24 คน ก็ได้ที่นั่งสภาเมืองพัทยา 

ฟุตบอลกับการเมือง สองขั้วแต่รั้วเดียวกัน

ช่วงจังหวะเวลาเดียวกัน ในปี 2549 สโมสรฟุตบอลจังหวัดชลบุรีที่มีคุณปลื้มและสิงห์โตทองเป็นผู้สนับสนุนหลัก ก็ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันไทยพรีเมียร์ลีก 2549 ในฐานะแชมป์โปรวินเชียลลีก 2548 ด้วยวิธีทำงานเป็นทีมและแบ่งหน้าที่กันบริหารภายนอกและภายใน

ทำให้สโมสรประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2550 และยังได้สิทธิ์เข้าแข่งขันเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกปี 2551 ก่อนที่จะต่อยอดพัฒนาสู่ความเป็นมืออาชีพพร้อมกับปรับภาพลักษณ์ให้ทันสมัยอย่าต่อเนื่อง จนกลายก็เป็นที่รู้จักในนาม “ฉลามชล”

ชลบุรี เอฟซี ทีมฟุตบอลระดับจังหวัดที่ผลงานระดับท็อปของประเทศ นับเป็นขาขึ้นแบบยั้งไม่หยุดฉุดไม่อยู่ พร้อมกันกับความรุ่งโรจน์ทางการเมือง ต่อเนื่องไปถึงปี 2554 เมื่อสนธยา คุณปลื้มและกลุ่มเรารักชลบุรีได้ก่อตั้ง “พรรคพลังชล” ขึ้น เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้น และประสบความสำเร็จด้วยการชนะการเลือกตั้งจังหวัดชลบุรีถึง 6 เขตจากทั้งหมด 8 เขต

อย่างไรก็ตาม เมื่อโลกหมุนเวียน กาลเวลาเปลี่ยนไป ฉากทัศน์ทางการเมืองอันซับซ้อนทั้งของประเทศและของชลบุรีเองเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเติบโตและกระแสของพรรคการเมืองใหม่ รวมถึงการมีบ้านใหญ่จำนวนมากในจังหวัด ทั้งที่มีอยู่แต่เดิมอย่าง เนื่องจำนงค์ หรือบ้านใหม่อย่าง ชมกลิ่น

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 มาจนถึง การเลือกตั้งครั้งล่าสุด 2566 จากเคยท็อปฟอร์มทั้งสองวงการ ทำให้จำนวนสมาชิกของค่ายนี้แทบไม่ได้รับเลือกตั้งเข้าเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลย นับเป็นขาลงที่เคียงคู่ไปกับ ชลบุรี เอฟซี ที่ตกชั้นลงไปในฤดูกาลนี้ 

เรื่องนี้จะว่าบังเอิญ หรือเกี่ยวเนื่องกัน คงต้องลองมองเปรียบเทียบสโมสรอื่นๆ ที่มีผู้สนับสนุนหลักเป็นนักการเมือง หรือกลุ่มการเมือง ว่าความรุ่งเรืองของสโมสรผันแปรตามความนิยมของพรรคการเมืองที่สนับสนุนหรือไม่ แต่ในทัศนะผู้เขียน ฟุตบอลกับการเมืองคือเรื่องของ “น้ำกับเรือ เสือกับป่า” ที่ต่างฝ่ายต่างต้องเกื้อกูลและพึ่งพากันอย่างขาดกันไม่ได้.