ประวัติ อุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาล รธน. กับปมร้อนยุบก้าวไกล ต้องขอบคุณผม
เปิดประวัติ "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าของวลี "ต้องขอบคุณผม" กับดราม่าร้อนทวงบุญคุณไม่ถูกยุบพรรคก็ไม่รวย 20-30 ล้าน
กำลังเป็นประเด็นร้อนวันนี้ (21 ส.ค. 67) หลังโลกโซเชียลได้มีการเผยแพร่คลิปของ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในผู้ตัดสินยุบพรรคก้าวไกล ที่กล่าวระหว่างบรรยายเรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา
โดยช่วงหนึ่งของการสัมมนา นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวว่า "พรรคประชาชนต้องขอบคุณตนเองที่ทำให้พรรคได้เงินบริจาคเพิ่ม เหมือนอย่างวันนี้เขายังมีปัญหาอยู่ พรรคคุณไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อ ไปรับเงิน คุณออกในนามพรรคประชาชนซึ่งคุณยังไม่ได้เปลี่ยนชื่อโดยถูกต้อง ทำได้หรือไม่ เขาบอกผมใช้บัญชีเดิม ก็ต้องตรวจสอบ ใช้บัญชีเดิมจริงหรือเปล่า หรือเปิดบัญชีใหม่
จริงๆ ต้องขอบคุณผมนะที่มีการยุบพรรคเขา เห็นไหมครับเขาได้เงินตั้งกี่ล้านภายในสองวัน ถ้าไม่ยุบ เขาร้องไห้ฟรีเลยนะ ก่อนหน้านั้นเงินไม่มีนะ ต้องขอบคุณผมนะทำให้เขามีเงินเข้าไปตั้ง 20-30 ล้าน สมาชิกเก่าเข้าไปจดทะเบียนเป็นสมาชิกตามไปด้วยเห็นไหม ก็ไม่เห็นจะเดือดร้อนตรงไหนเลย ทุกวันนี้แล้วแต่มุมมอง คนเชียร์ก็เชียร์สุดใจขาดดิ้นโดยไม่ฟังคนอื่น ฟังสั้นๆ พอแล้ว รู้ว่าไม่ควรยุบ แต่ยุบเพราะอะไร ไม่รู้ ไม่สนใจ ยุบปั๊บ อ้าว ไปเปิดพรรคใหม่ได้ ไม่ข้องใจแล้วหรือ เมื่อวานร้องไห้อยู่ พรรคเราจะไปแล้ว อย่างนู้น อย่างนี้ โอ้.. สองวันเลิก จากน้ำตาเป็นเสียงหัวเราะ ยักไหล่แล้วไปต่อ เงิน 20 ล้าน (หัวเราะ)"
ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับให้กับบรรดาด้อมส้มและสส.พรรคประชาชน หลังนายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 1 ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ตัดสินคดียุบก้าวไกล กล่าวทำนองทวงบุญคุณ หากไม่ถูกยุบพรรคก็ไม่รวย 20-30 ล้าน
ประวัติ "อุดม สิทธิวิรัชธรรม" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หนึ่งในผู้ตัดสินคดียุบพรรคก้าวไกล
นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497
ประวัติการศึกษา
- นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง (พ.ศ. 2517)
- เนติบัณฑิตไทย สมัยที่ 28 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา (พ.ศ. 2518)
- นิติศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2525)
ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต
- นายทหารพระธรรมนูญ กองทัพเรือ (25 มีนาคม 2519 - 30 กันยายน 2524 )
- ผู้ช่วยผู้พิพากษา ผู้พิพากษาประจำกระทรวงช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดทุ่งสง และผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลจังหวัดแม่สอด ศาลจังหวัดพิษณุโลก และศาลจังหวัดนครสวรรค์ (1 ตุลาคม 2524 - 31 ตุลาคม 2534)
- ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำกระทรวง ช่วยทำงานในตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครสวรรค์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหลังสวน ศาลจังหวัดอุทัยธานี และศาลจังหวัดกำแพงเพชร (1 พฤศจิกายน 2534 - 10 เมษายน 2540)
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา (11 เมษายน 2540 - 2 มิถุนายน 2542)
- ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 6 (3 มิถุนายน 2542 - 1 ตุลาคม 2549)
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์ ภาค 3 (2 ตุลาคม 2549 - 30 กันยายน 2550)
- ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลอุทธรณ์ภาค 5 และประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลอุทธรณ์ภาค 3 (1 ตุลาคม 2550 - 30 กันยายน 2552)
- รองประธานศาลอุทธรณ์ (1 ตุลาคม 2552 - 30 กันยายน 2554)
- อธิบดีผู้พิพากษาภาค 1 และ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ (1 ตุลาคม 2554 - 30 กันยายน 2556)
- ผู้พิพากษาศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2556 - 30 กันยายน 2557)
- ประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 (1 ตุลาคม 2557 - 30 กันยายน 2559)
- ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2559 - 30 กันยายน 2561)
- ประธานแผนกคดีคำสั่งคำร้องและขออนุญาตฎีกาในศาลฎีกา (1 ตุลาคม 2561 - 25 กุมภาพันธ์ 2563)
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ
- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)