ห่วงน้ำท่วมภาคเหนือ สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ เตรียมรับมือฝนตกหนัก

ห่วงน้ำท่วมภาคเหนือ สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ เตรียมรับมือฝนตกหนัก

สธ. กำชับ สสจ.-รพ.ทุกแห่ง โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินฯ บริหารสถานการณ์

วันนี้ (22 ส.ค. 67) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมผ่านระบบทางไกลกับผู้บริหารหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดประสบอุทกภัยและจังหวัดเสี่ยง เพื่อติดตามสถานการณ์และการเตรียมพร้อมรับมือ โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉินได้รายงานการคาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2567 อาจเกิดพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา และน่าน, พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังระยะสั้น 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน และพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง 1 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย รวมทั้งต้องมีการเฝ้าระวังในจังหวัดสุโขทัยซึ่งจะเป็นพื้นที่รับน้ำในลำดับต่อไป
 

กระทรวงสาธารณสุขมีการจัดทำแผนรับสถานการณ์และซักซ้อมแผนอยู่แล้ว ได้กำชับให้ดำเนินการตาม 5 มาตรการหลัก คือ 

1.จังหวัดที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังและพื้นที่รับน้ำ ให้พิจารณาเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เพื่อติดตามสถานการณ์และประเมินผลกระทบ พร้อมทั้งรายงานกองสาธารณสุขฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง

2. ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีเขื่อน อ่างเก็บน้ำ หรือลำน้ำต่างๆ ที่อาจจะมีน้ำล้นตลิ่ง หรือพนังกั้นน้ำพัง 

3.กรณีมีเหตุการณ์สำคัญ/ฉุกเฉิน (DCIRs) ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รายงานไปยังกองสาธารณสุขฉุกเฉิน 

4.เฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม อาทิ ฉี่หนู ตาแดง ไข้เลือดออก รวมถึงดูแลสุขอนามัยของประชาชนในศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

5.จัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระหว่างเกิดอุทกภัย รวมถึงประเมินผลกระทบและดำเนินการฟื้นฟูต่อไป 
 

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ช่วงวันที่ 17 - 22 สิงหาคม 2567 มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ สะสม 10 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ใน 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น เพชรบูรณ์ ลำปาง แพร่ น่าน ระดับน้ำคงตัว และอุดรธานี ระดับน้ำลดลง และมีรายงานผู้เสียชีวิต 2 ราย โดยจังหวัดพะเยา และเชียงราย มีการเปิด PHEOC แล้ว

ล่าสุด มีหน่วยงานสาธารณสุขได้รับผลกระทบรวม 6 แห่ง ในจำนวนนี้ สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ 3 แห่ง และต้องปิดบริการ 3 แห่ง คือ รพ.สต.บุญเกิด จังหวัดพะเยา รพ.สต.ตับเต่า และ สสอ.เทิง จังหวัดเชียงราย  

ทั้งนี้ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา (16 กรกฎาคม - 15 สิงหาคม 2567) มีพื้นที่ได้รับผลกระทบกรณีอุทกภัยสะสม 24 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ที่มหาสารคาม 3 ราย แม่ฮ่องสอนและจันทบุรี จังหวัดละ 1 ราย สาเหตุจากการพลัดตกน้ำ/ลื่น/จมน้ำ และถูกน้ำป่าพัด ส่วนผู้บาดเจ็บมี 32 ราย อยู่ที่กาญจนบุรี 27 ราย และสุราษฎร์ธานี 5 ราย ร้อยละ 62.5 เกิดจากถูกของมีคม/แมลงสัตว์กัดต่อย รองลงมาเป็นน้ำกัดเท้า ข้อเท้าแพลง และลื่นล้ม ตามลำดับ

ส่วนกลางได้สนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ ได้แก่ ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ จำนวน 2,200 ชุด และยาชุดแพทย์แผนไทยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย ประกอบด้วย ยาฟ้าทะลายโจร 399 ขวด ยาเขียวหอม 75 ขวด ยาห้าราก 424 ขวด ยาหอมนวโกฐ 1,100 ซอง ยาปราบชมพูทวีป 569 ขวด ยาธุาตุบรรจบ 1,984 ซอง ยาจันทน์ลีลา 473 ขวด ยาสหัสธารา 572 ขวด ยาประสะจันทร์แดง 574 ขวด และยามันทธาตุ 424 ขวด