ธ.ก.ส. อัดงบ 2 หมื่นล้าน ฟื้นฟู-เสริมสภาพคล่อง เกษตรกรผู้ประสบน้ำท่วม
ธ.ก.ส. เร่งช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบน้ำท่วม จัดมาตรการฟื้นฟูและเสริมสภาพคล่องเกษตรกร วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท ผ่านสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินปี 67/68 รายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรายละไม่เกิน 5 แสนบาท
จากสถานการณ์อุทกภัยฉับพลันที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ
ล่าสุด นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว ธ.ก.ส. ได้จัดมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้าเพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำในการนำไปสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท
1.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ปี 2567/68 เพื่อเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในด้านค่าใช้จ่ายทั่วไป เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น
- อัตราดอกเบี้ย 0% 6 เดือนแรก
- เดือนที่ 7 คิดอัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975)
- วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท
2.โครงการสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าลงทุนในการซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่
- อัตราดอกเบี้ย MRR-2
- วงเงินรายละไม่เกิน 500,000 บาท
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลใจในช่วงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ธนาคารพร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. ในพื้นที่ประสบภัย ได้แก่ จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา และจังหวัดแพร่ จัดถุงยังชีพเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกว่า 10,000 ถุง
พร้อมส่งมอบน้ำดื่ม ธ.ก.ส. และจัดทำอาหารกล่องสนับสนุนหน่วยบรรเทาสาธารณภัยในการปฏิบัติหน้าที่และผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ประสบภัยร้ายแรง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน หลังน้ำลดจะออกสำรวจความเสียหายของลูกค้าเพื่อรวบรวมข้อมูลในการวางแนวทางการช่วยเหลืออย่างตรงจุดต่อไป