กรมการแพทย์ เร่งสอบเส้นทาง 'ยาดอง เหล้าเถื่อน' หลังพบผู้ป่วยเพิ่ม 5 ซุ้มใหม่
กรมการแพทย์ เผย พบคลัสเตอร์ ยาดอง เหล้าเถื่อน เพิ่มอีก 5 ซุ้ม เร่งสอบเส้นทาง หวั่นส่งขายสถานที่อื่นเพิ่ม
วันนี้ (28 ส.ค. 67) จากกรณีมีผู้ป่วยจากอาการเป็นพิษจาก เมทานอล หลังดื่ม ยาดอง เหล้าเถื่อน ในพื้นที่ย่านคลองสามวา นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าล่าสุด มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 37 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน รวมเสียชีวิตสะสม 6 คน และ มีผู้ป่วยที่กําลังรักษาตัวจํานวนทั้งสิ้น 22 คน พบมีอาการรุนแรงที่รักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู และใส่ท่อช่วยหายใจ 7 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 8 คน สีเหลือง 10 คน และสีเขียว 4 คน โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตรวม 23 คน และมีผู้ป่วยที่รักษาหายและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว จํานวน 9 คน
นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายกัน มาจาก 5 ซุ้มใหม่ ที่ขายเหล้าเถื่อนคือ ตลาดนิคมลาดกระบัง 2 ซุ้ม, สุวินทวงศ์, ตลาดมารวย และ ย่านรามอินทรา 44 ที่ละ 1 ซุ้ม จึงต้องไล่ย้อนไปว่ารับเหล้าเถื่อนมาจากที่ใด และต้องสอบสวนทางผู้ผสมยาดอง กับผู้ต้องหาอีก 2 รายว่ามีการส่งต่อไปยังสถานที่อื่นหรือไม่
ด้าน พญ.มินตรา ตั้งรุ่งเรืองกิจ ผู้ช่วย ผอ.ด้านการพัฒนาคุณภาพ ระบุเพิ่มเติมว่า ที่ รพ.นพรัตน์ มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2 ราย ที่มีอาการหนัก โดยคนแรกมีอาการหนักตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา มีอาการเหนื่อยหอบรุนแรง จึงมีการใส่ท่อช่วยหายใจ และล้างไต อีกรายรับมาใหม่เมื่อคืนมีการฟอกไตเหมือนกัน จึงฝากเตือนไปยังประชาชนที่ยังมีการรับประทานเหล้าเถื่อนอยู่ในปัจจุบันว่าให้เลิกก่อน เพราะไม่รู้ว่าตอนนี้สารพิษต่าง ๆ ที่เจอ กระจายไปกี่ที่ในกรุงเทพฯ และถ้าหากมีอาการ อยากให้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที หากรับการรักษาช้า ฤทธิ์ของสารพิษอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และสำหรับ 9 ราย ที่รักษาหาย เกิดจากผู้ป่วยเองมาโรงพยาบาลและตรวจเช็กอาการเร็ว และได้รับการรักษาเร็ว จึงสามารถรักษาได้ทัน
ขณะที่นายแพทย์กิติพงษ์ พนมยงค์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านอาชีวเวชศาสตร์ฯ ระบุเพิ่มเติมว่า จากการนำเลือดของผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปตรวจ พบว่ามีสารทั้ง 3 ชนิด
1. IPA (ไอโซไพพิลแอลกอฮอล์) เป็นสารที่รับประทานไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อไต กับ เส้นประสาททำงานผิดปกติ
2. เอทานอล
3. เมทานอล
ซึ่งอาการที่ออกฤทธิ์ส่วนใหญ่เป็นเมทานอล เป็นหลัก เพราะมีความรุนแรงที่สุด โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เข้ารับการรักษา ผู้ป่วยกลุ่มแรกที่มาตรวจ ยังไม่สามารถระบุอาการชัดเจนได้ เนื่องจากอาการแตกต่างจากการเมาแอลกอฮอล์ปกติ จึงต้องมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารเมทานอล