อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 22,013 ครัวเรือน

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 22,013 ครัวเรือน

ปภ.รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 22,013 ครัวเรือน เร่งส่งเจ้าหน้าที่พร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยระบายน้ำและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (29 ส.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัยพิษณุโลก และหนองบัวลำภู รวม 23 อำเภอ 98 ตำบล 698 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,013 ครัวเรือน เร่งส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยระบายน้ำออกจากพื้นที่ประสบภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง

นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ในขณะที่มีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบนปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 22,013 ครัวเรือน

ทำให้ระหว่างวันที่ 16 - 29 ส.ค. 67 มีสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู ระยอง ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล รวม 90 อำเภอ 372 ตำบล 2,057 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,167 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย โดยปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2567) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 5 จังหวัด รวม 23 อำเภอ 98 ตำบล 698 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22,013 ครัวเรือน ดังนี้

1) เชียงราย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 15 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน อ.แม่จัน อ.เชียงของ อ.ดอยหลวง อ.เมืองฯ อ.แม่ลาว อ.เวียงแก่น อ.พญาเม็งราย อ.เวียงชัย อ.ขุนตาล อ.เวียงเชียงรุ้ง อ.เทิง อ.ป่าแดด และอ.เวียงป่าเป้า รวม 65 ตำบล 583 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 18,309 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ระดับน้ำลดลง

2) ลำปาง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.วังเหนือ รวม 5 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 63 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

3) สุโขทัย เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.เมืองฯ รวม 24 ตำบล 90 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,590 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว
 

4) พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.พรหมพิราม และอ.บางระกำ รวม 3 ตำบล 5 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน ระดับน้ำทรงตัว

5) หนองบัวลำภู เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ รวม 1 ตำบล 10 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 11 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด 5 จังหวัด ประชาชนเดือดร้อน 22,013 ครัวเรือน

ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เครื่องสูบน้ำ รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และรถผลิตน้ำดื่ม เพื่อเร่งระบายน้ำบรรเทาความเดือดร้อน และผลิตน้ำดื่มสะอาดแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกันนี้ ยังได้สนับสนุนถุงยังชีพรวมกว่า 8,000 ชุด แจกจ่ายให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น

ในส่วนของการเสริมกำลังช่วยน้ำท่วมภาคเหนือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ร่วมกับกองทัพบก (ทบ.) สนธิกำลังร่วมส่งเฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำ ฮ.ปภ.32 "The Guardian Team" สนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และเตรียมพร้อมรับมือสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนี้ ปภ. ยังได้ส่งทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ยานพาหนะจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตใกล้เคียงและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตภาคอื่นที่ไม่มีสถานการณ์ภัย เข้าร่วมปฏิบัติภารกิจให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 10 ลำปาง ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น และศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 5 นครราชสีมา 

สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามรายงานคาดการณ์สาธารณภัยและประกาศการแจ้งเตือนภัยได้ที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android และหากได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง