แพทย์ เตือน อย่าลุยน้ำ ย่ำดินโคลนเท้าเปล่า เสี่ยงโรคไข้ดิน พบป่วยแล้ว 2 พันราย

แพทย์ เตือน อย่าลุยน้ำ ย่ำดินโคลนเท้าเปล่า เสี่ยงโรคไข้ดิน พบป่วยแล้ว 2 พันราย

แพทย์ เตือน อย่าลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า เสี่ยงติดโรคไข้ดิน ปีนี้ พบผู้ป่วยแล้ว 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย พร้อมเผยอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย ต้องไปพบแพทย์ทันที

วันนี้ (16 ก.ย. 67) สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือน เกษตรกร และประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หรือผู้ที่ทำงานสัมผัสดินและน้ำโดยตรง ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า ย่ำดินโคลนเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานานเพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ หากต้องทำงานสัมผัสกับดินและน้ำที่เปียกชื้นเป็นเวลานาน หรือมีบาดแผลขีดข่วน ควรสวมรองเท้าบูท สวมถุงมือยาง และกางเกงขายาว เพื่อป้องกัน เมื่อเสร็จภารกิจให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที และหากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 5 วัน ควรรีบพบแพทย์ 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึง โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน ว่า เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว ท้องไร่ สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา จับปลา ลุยน้ำ ปลูกแปลงผัก ทำสวนยาง จับปลา หรือ ลุยโคลน เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง คือ 

  1. การสัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน 
  2. ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป 
  3. สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 

หลังติดเชื้อประมาณ 1-21 วันจะเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แต่บางรายอาจนานเป็นปี ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละคน 
 

นายแพทย์ทวีชัย กล่าวอีกว่า อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะ จะมีความหลากหลายคล้ายโรคติดเชื้ออื่นๆ หลายโรค เช่น มีไข้สูง มีฝีที่ผิวหนัง มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ อาจติดเชื้อเฉพาะที่ หรือติดเชื้อแล้วแพร่กระจายทั่วทุกอวัยวะและเสียชีวิตได้ สถานการณ์โรคเมลิออยด์ ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 3 กันยายน 2567 พบผู้ป่วย 2,399 ราย เสียชีวิต 68 ราย 

สถานการณ์โรคเมลิออยด์ ในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 13 กันยายน 2567 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์ จำนวน 353 ราย มีผู้เสียชีวิต 5 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1.จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 180 รายเสียชีวิต 3 ราย  2.จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 94 ราย เสียชีวิต 2 ราย  3.จังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 44 ราย  4.จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 35 ราย ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว 
 

นายแพทย์ทวีชัย กล่าวต่อไปว่า เชื้อสามารถเข้าได้ทางผิวหนังโดยการสัมผัสดินและน้ำเป็นเวลานาน การกิน หรือดื่มน้ำไม่สะอาด และการหายใจเอาละอองฝุ่นดินเข้าไป จะมีอาการไข้ ไอเรื้อรัง ฝีที่ผิวหนัง ปวดท้อง ปวดข้อ และกระดูก โดยทั่วไปอาการมักปรากฏขึ้นใน 2-4 สัปดาห์หลังได้รับเชื้อ 

หากติดเชื้อในกระแสเลือด แล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มีโอกาสเสียชีวิตใน 1-3 วัน กลุ่มอายุที่ป่วยมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 55-64 ปี และ กลุ่มอายุ 45-54 ปี ตามลำดับ กลุ่มอาชีพที่ป่วยมากที่สุดคือ ชาวนาปลูกข้าว และเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อว่า การป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือโรคไข้ดิน ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือแช่น้ำเป็นเวลานาน หากจำเป็นควรสวมรองเท้าบูทหรือถุงพลาสติกหุ้มรองเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าสัมผัสน้ำโดยตรง สวมถุงมือยาง กางเกงขายาว หากมีบาดแผลควรปิดด้วย พลาสเตอร์กันน้ำ และอาบน้ำชำระร่างกายทันทีหลังจากทำงานหรือลุยน้ำ รวมถึงดื่มน้ำสะอาดหรือน้ำต้มสุกทุกครั้ง 

หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อที่แพทย์จะได้ตรวจวินิจฉัยและรักษาทันทีตามอาการและความรุนแรงของโรค สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422