ปรับเตือนภัย กู้วิกฤติน้ำ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ปรับเตือนภัย กู้วิกฤติน้ำ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

คนไทยเผชิญกับวิกฤติน้ำท่วมเป็นประจำ และมีความถี่สูงมากขึ้น น้ำท่วมแต่ละครั้งได้สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก ล่าสุดเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือโดยเฉพาะน่าน สุโขทัย เชียงราย หนองคายและอีกหลายจังหวัด

แม้จะเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่หลายครั้ง แต่ระบบเตือนภัยน้ำท่วมในประเทศไทยยังคงมีจุดอ่อนอยู่หลายประการ ที่ทำให้การเตือนภัยไม่สามารถป้องกันความเสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จนต้องนำไปสู่การช่วยเหลืออพยพประชาชนอย่างยากลำบากเมื่อน้ำท่วมเกิดขึ้นแล้ว

หากประเทศไทยเน้นที่การป้องกันล่วงหน้า แจ้งเตือนล่วงหน้า ตั้งศูนย์อพยพล่วงหน้า ก็จะทำให้การบริหารจัดการวิกฤติน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน และลดงบประมาณในการแก้วิกฤตและการเยียวยา

การเตรียมล่วงหน้า จึงเป็นหัวใจของการแก้ไขทุกวิกฤติ รวมถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ด้วย 

จุดอ่อนของระบบเตือนภัยน้ำท่วมในประเทศไทยที่มีเสียงสะท้อนออกมาจากผู้คนในพื้นที่ มีตั้งแต่ความล่าช้าในการแจ้งเตือนภัย บางครั้งการเตือนภัยมาถึงประชาชนเมื่อระดับน้ำท่วมถึงจุดที่อันตรายแล้ว ทำให้คนไม่สามารถเตรียมตัวหรืออพยพได้ทันเวลา 

นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลที่ไม่ทันเวลาและขาดการวิเคราะห์อย่างถูกต้องแบบบูรณาการ นำไปสู่การประเมินสถานการณ์ผิดพลาด ภาวะต่างคนต่างแจ้งเตือนคนละประเด็นระหว่างหน่วยงานก็มีส่วนทำให้ประชาชนสับสนและไม่เข้าใจ
ะบบเตือนภัยน้ำท่วมของญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างของระบบที่มีประสิทธิภาพสูง การเตือนภัยในญี่ปุ่นมีลักษณะที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้รวดเร็ว ผ่านช่องทางหลากหลาย โดยเฉพาะข้อความฉุกเฉินทางโทรศัพท์ที่ส่งข้อความเตือนภัยไปยังโทรศัพท์มือถือของประชาชนแบบอัตโนมัติ

ปรับเตือนภัย กู้วิกฤติน้ำ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ข้อความนี้จะถูกส่งไปยังทุกคนในพื้นที่เสี่ยงทันทีที่มีการแจ้งเตือนเรื่องน้ำท่วม ข้อความจะระบุชัดเจนเกี่ยวกับระดับความรุนแรงของน้ำท่วม เวลาที่คาดว่าจะเกิด และคำแนะนำให้ประชาชนอพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย โดยมีการจัดตั้งศูนย์อพยพที่ชัดเจนและเป็นระบบ

ในเมืองและชุมชนต่าง ๆ จะมีการติดตั้งหอกระจายข่าวที่ส่งเสียงเตือนภัยเป็นระยะ ซึ่งเสียงแจ้งเตือนนี้มีข้อความที่ชัดเจนและสั้นกระชับ ทำให้ทุกคนในพื้นที่สามารถเตรียมตัวได้ทันที

ระบบการแจ้งเตือนประชาชนของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นอีกประเทศที่เสี่ยงต่อการน้ำท่วมสูงก็ออกแบบมาให้ชัดเจนและง่ายต่อการปฏิบัติตาม โดยเฉพาะการใช้แบบจำลองข้อมูลที่สามารถคาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ

โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกแปลงเป็นภาพกราฟิกหรือ “แผนที่น้ำท่วม” ให้ประชาชนสามารถเข้าใจได้ง่าย แผนที่จะแสดงระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับคำแนะนำในการอพยพ

ระบบเตือนภัยจะส่งข้อความแจ้งเตือนพร้อมคำแนะนำเฉพาะพื้นที่ผ่าน SMS และแอปพลิเคชันต่างๆ พร้อมกับมีการใช้กราฟิกและสัญลักษณ์ที่สื่อถึงระดับความรุนแรงของน้ำท่วมเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย

การแจ้งเตือนเมื่อมีวิกฤตหรือภัยธรรมชาติเข้ามือถือของของประชาชนตามพื้นที่เสี่ยงภัยผ่าน SMS โดยระบบ Cell Broadcast Service (CBS) เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการใช้งานในหลายประเทศ ทั้งนี้ มีข่าวว่าประเทศไทยก็มีการพัฒนาระบบนี้อยู่เช่นกัน แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เป็นงานด่วนของรัฐบาล

ในด้านการสื่อสารกับประชาชนนั้น การใช้ภาษาหรือคำเตือนของภาครัฐเป็นช่องว่างหนึ่งที่สำคัญที่มักทำให้ประชาชนเข้าใจผิดหรือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เช่น การใช้คำที่เป็นทางการมาก ไม่ชัดเจน กำกวม หรือคำที่เป็นเชิงเทคนิค ทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจความรุนแรงของสถานการณ์ 

ตัวอย่างเช่น การใช้คำว่า "เฝ้าระวัง" หรือ "เตรียมพร้อม" โดยไม่บอกระดับความรุนแรงที่ชัดเจน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดว่ามีเวลามากในการเตรียมตัว ทั้งที่สถานการณ์อาจรุนแรงและต้องอพยพในทันที  

ปรับเตือนภัย กู้วิกฤติน้ำ | ธราธร รัตนนฤมิตศร

หากมีการเตือนว่า "เตรียมพร้อมสำหรับน้ำท่วม" แต่ไม่ระบุว่าระดับน้ำจะเพิ่มสูงถึงระดับที่อาจคุกคามชีวิต ประชาชนอาจตัดสินใจอยู่บ้านต่อและไม่อพยพ จนกว่าจะถึงเวลาที่น้ำเริ่มเข้าท่วมพื้นที่แล้ว

การแจ้งเตือนว่า "น้ำอาจท่วมบางพื้นที่ในจังหวัด" โดยไม่บอกข้อมูลพื้นที่เฉพาะเจาะจง ก็ทำให้ประชาชนสับสนเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจริงๆ บางคนอาจคิดว่าบ้านของตนไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง จึงไม่เตรียมตัวหรืออพยพ

แต่เมื่อสถานการณ์เกิดขึ้นจริง พื้นที่ของพวกเขาอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างรุนแรง การร่วมมือระหว่างหน่วยงานจัดทำ “แผนที่เสี่ยงน้ำท่วมแบบเรียลไทม์” และสื่อสารกับประชาชนอย่างชัดเจนจะช่วยแก้ปัญหาได้

การใช้ศัพท์ทางเทคนิคที่ไม่เป็นที่เข้าใจสำหรับคนทั่วไป เช่น "ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 5 เซนติเมตรใน 2 ชั่วโมง" ก็อาจไม่เพียงพอในการสื่อสารถึงความรุนแรงของสถานการณ์

ประชาชนอาจไม่เข้าใจว่าระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นนี้หมายถึงอะไรในบริบทของพื้นที่จริง อาจปรับใช้ภาษาที่ง่ายขึ้น เช่น "น้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจเข้าท่วมถึงบริเวณชั้นหนึ่งของบ้านใน 2 ชั่วโมง" 

ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องยกระดับระบบเตือนภัยน้ำท่วมและการสื่อสารให้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดความสูญเสียซ้ำซากและช่วยให้ทุกคนพร้อมรับมือกับวิกฤตได้อย่างแท้จริง เพราะการเตือนล่วงหน้าคือการป้องกันความเสียหาย และการป้องกันที่ดีคือการสร้างอนาคตที่ปลอดภัยให้กับคนไทยทุกคน.

ปรับเตือนภัย กู้วิกฤติน้ำ | ธราธร รัตนนฤมิตศร