บอร์ดกสทช.ไฟเขียว Cell Broadcast เทพันล้านให้ค่ายมือถือทำระบบเตือนภัย
บอร์ดกสทช.อนุมัติกรอบงบประมาณระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือแล้ว มูลค่าโครงการกว่า 1,000 ล้านบาท ด้านประธานกสทช.แจงยิบ 15 ส.ค.นี้ เตรียมเสนอ 5 ผลงานเด่น ปี‘66 แก่สภาฯ รับกังวล ยกประเด็นคุณสมบัติตนเอง ยืนยันชี้แจงทุกอย่างไปหมดแล้ว การันตีไม่ผิดคุณสมบัติ
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (15 ส.ค.) ตนเองจะเดินทางไปรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 14 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามระเบียบวาระการประชุมที่ 2.2 รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช ประจำปี 2566
สำหรับการรายงานผลงานที่สำคัญประกอบด้วย 1. การปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 2.การอนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) 3.โครงการยูโซ่ 4. การนำสายสื่อสารลงดิน และ 5.การรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม
ล่าสุดวันนี้ (14 ส.ค.) บอร์ดกสทช.ได้การดำเนินการของระบบเตือนภัย ได้ข้อสรุปแล้วว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย จะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่วนของ Cell Broadcast Entity (CBE) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการในส่วนของระบบ Cloud Server และการเชื่อมต่อระหว่าง Cell Broadcast Entity (CBE) และ Cell Broadcast Center (CBC) รวมถึง รับทราบรูปแบบการเชื่อมต่อระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) และอุปกรณ์อื่นที่เกี่ยวข้อง คาดว่าปภ.จะสร้างระบบเสร็จภายใน 9-12 เดือน
ดังนั้น ในมุมของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) จึงต้องเตรียมระบบให้พร้อม กสทช.จึงได้อนุมัติกรอบวงเงินการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เฉพาะเงินสนับสนุนระบบ Cell Broadcast Center (CBC) Core Network Radio Network และค่าบำรุงรักษาระบบ (MA) จำนวน 3 ปี รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,030,961,235.54 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เพื่อให้โอเปอเรเตอร์สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นมาลดหย่อนยูโซ่ได้
รวมถึงเห็นชอบรายการบัญชีระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ให้กับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น (AWN) จำนวน 370 ล้านบาท และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) จำนวน 370 ล้านบาท ขณะที่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เสนองบประมาณมา 278 ล้านบาท ซึ่งกสทช.เห็นว่าเป็นราคาที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับจำนวนลูกค้าที่ให้บริการ จึงให้เอ็นทีกลับไปพิจารณางบประมาณให้เหมาะสมเพื่อนำมาเสนอต่อกสทช.ใหม่
ขณะที่เรื่องการรักษาวงโคจรดาวเทียม ก็ต้องชี้แจงให้ได้ว่า เมื่อไม่มีผู้ประมูล จะดำเนินการอย่างไร หากกสทช.เป็นผู้รับผิดชอบรักษาวงโคจรเอง จะต้องใช้งบประมาณในการรักษาวงโคจรประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนประเด็นที่คาดว่าสภาผู้แทนราษฎร อาจจะหยิบยกประเด็นขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 แต่ก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ต่อ หลังจากหนังสือถูกยื่นถึงประธานวุฒิสภาคนก่อน ที่เพิ่งหมดวาระไป นั้น
ประธานกสทช. ยืนยันว่า ได้ชี้แจงทุกอย่างไปหมดแล้ว และไม่ใช่หน้าที่ของสภาฯในการตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ถามว่า กังวลไหม ประธานกสทช.ยอมรับว่า กังวลใจ เป็นเรื่องธรรมดา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2566 ของ กสทช. เพื่อเตรียมรายงานต่อ สภาฯ โดยส่วนใหญ่ในเอกสารเป็นผลงานในปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาและอุปสรรค กลับมีเพียง 2 เรื่อง คือปัญหาเรื่องการจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงดิน และ การให้บริการแพร่ภาพกระจายเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ส่วนประเด็นปัญหาเรื่องของคุณสมบัติประธาน กสทช. ที่เป็นประเด็นร้อน ไม่มีระบุในรายงาน จึงต้องรอลุ้นว่า เรื่องคุณสมบัติประธาน กสทช.ดังกล่าว จะถูกหยิบขึ้นมาซักถามเพื่อสางปัญหาที่ค้างคามายาวนาน ขององค์กรอิสระแห่งนี้หรือไม่