กสทช.เข็น 'ทราฟฟี่ฟองดูว์' แจ้งปัญหา ค่าโทรไม่ตรง-บิลช็อค ใช้จริง 12 ส.ค.นี้
สำนักงาน กสทช. เปิดตัว ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) รับแจ้งปัญหาค่าโทรศัพท์ SMS บิลไม่ตรงตามจริง และปัญหาสายสื่อสาร พร้อมใช้งาน 12 ส.ค.นี้ มั่นใจช่วยลดขั้นตอน การออกเอกสารทางการ และลดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 50%
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยหลังเป็นประธานในงาน เปิดตัว แพลตฟอร์ม ‘ทราฟฟี่ฟองดูว์’ (Traffy Fondue) หรือชื่อภาษาไทยว่า ‘ท่านพี่ฟ้องดู’ เพื่อใช้แจ้งปัญหาในด้านกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และปัญหาสายสื่อสารให้แก่ประชาชน ว่า แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นภายในสำนักงาน กสทช. โดยปัจจุบัน สวทช. ได้พัฒนาเรื่องรับแจ้งให้ครอบคลุมการให้บริการประชาชนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และปัญหาสายสื่อสาร
โดยปีนี้ได้มอบหมายนโยบายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการเพิ่มช่องทางให้ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ไอดี @traffyfondue เพื่อรับเรื่องแจ้งและบริหารจัดการปัญหาต่าง ๆ ให้มีความรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่าย ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้หน่วยงานที่รับแจ้งปัญหาได้บริหารจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยให้มีความรวดเร็ว ช่วยลดขั้นตอน การออกเอกสารทางการ และลดค่าใช้จ่าย ได้มากกว่า 50% ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้หน่วยงานที่รับแจ้งปัญหาได้บริหารจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที
สำหรับการให้บริการประชาชนที่สามารถแจ้งปัญหาผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue หากพบปัญหา
- ในด้านกิจการโทรทัศน์ ได้แก่ การแจ้งตรวจสอบเหตุขัดข้องที่เกิดจากบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และการแจ้งให้ช่วยตรวจสอบการเรียกเก็บค่าบริการที่เกิดข้อสงสัย
- ในด้านกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ การได้รับความข้อความรบกวนจาก SMS และต้องการให้ปิดกั้นการได้รับข้อความ SMS จากบริการที่ผู้ใช้ไม่ได้สมัครรับบริการ การคิดค่าบริการผิดพลาด การถูกเรียกเก็บค่าบริการที่ชำระแล้ว หรือถูกเรียกเก็บชำระค่าบริการหลังจากที่ได้ทำการยกเลิกบริการนั้น ๆ การแจ้งถึงความประสงค์ในการคงสิทธิเลขหมาย ‘MNP’ (Mobile Number Portability) หรือ ‘ย้ายค่ายเบอร์เดิม’ และปัญหาสายสื่อสาร
การใช้แพลตฟอร์ม Traffy Fondue จะช่วยให้สำนักงาน กสทช. สามารถติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และนำมาถอดบทเรียน วิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องในปี 2568 และสามารถตอบสนองการแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อำนวยความสะดวกในการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ได้รับการแก้ไขปัญหาจากผู้ให้บริการ และสามารถประเมินผลการดำเนินงานของผู้ให้บริการ เพื่อกำกับดูแล ซึ่งเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 สิงหาคม 2567
“บริการทางด้านกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือการโทรศัพท์ ดูทีวี และสายสื่อสาร เป็นบริการที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำนักงาน กสทช. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลผู้ให้บริการเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งจะสามารถเก็บรวบรวมปัญหา และส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว”
Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มที่วิจัยพัฒนาขึ้นโดย สวทช. สำหรับสื่อสารปัญหาของเมืองหรือชุมชน ระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาที่พบไปให้ผู้ที่รับผิดชอบโดยตรงเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วผ่านทางแอปพลิเคชันไลน์ ไอดี บนมือถือ และไม่มีข้อมูลของผู้แจ้ง โดยเป็นการแจ้งปัญหาในรูปแบบที่มีข้อมูลเพียงพอให้หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที เช่น มีภาพถ่าย และตำแหน่งบนแผนที่ ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI มาอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น มีการขยายผลการใช้งาน 77 จังหวัด มีหน่วยงานใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 แห่ง (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2567) ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง
ทั้งนี้ มีสถิติรับเรื่องร้องทุกข์ (มิ.ย. 2565 – ก.ค. 2567) มากกว่า 940,000 เรื่อง ดำเนินการเสร็จสิ้นมากกว่า 733,000 เรื่อง คิดเป็น 77%
อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. มีแผนที่จะดำเนินการพัฒนา Traffy Fondue อย่างต่อเนื่อง ให้สามารถรองรับต่อการแจ้งปัญหาจากการใช้บริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้ครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ประสบปัญหาจากการใช้บริการต่าง ๆ ให้ได้รับการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
ทั้งนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการใช้บริการ และไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหลังจากที่แจ้งผ่าน Traffy Fondue ประชาชนยังสามารถร้องเรียนตามกระบวนการปกติได้ที่ผู้ให้บริการโดยตรง หรือร้องเรียนมาที่ สำนักงาน กสทช. หมายเลข 1200