“นฤมล”นำทัพตรวจน้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ ชงครม.ของบ 3.7พันล้านเยียวยาเกษตรกร

“นฤมล”นำทัพตรวจน้ำท่วมอยุธยา-ปทุมฯ ชงครม.ของบ 3.7พันล้านเยียวยาเกษตรกร

“รมว.นฤมล”ยกทัพกระทรวงเกษตรฯ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอยุธยา-ปทุมธานี เผย เสนอของบกลาง 3,700 ล้าน เยียวยา ฟื้นฟูเกษตรกร คาดเข้าที่ประชุม ครม.สัปดาห์นี้ 

เมื่อวันที่ 5 ต.ค.เวลา 10.20 น.ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอิทธิ ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย (น้ำท่วม) ในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มต้นที่วัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นจุดแรก โดยมี นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดี ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดย ศ.ดร.นฤมล กล่าวภายหลังการติดตาม สถานการณ์น้ำ ว่า จากที่ได้รับฟังสรุปสถานการณ์ในขณะนี้ น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯเหมือนในปี 2554 แน่นอน เนื่องด้วยปริมาณน้ำและน้ำที่ยังเก็บกักได้เพิ่ม ตามที่รองอธิบดี กรมชลประทานรายงานข้อมูลมา แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ประสานกับกรมชลประทานตลอด เพื่อเตรียมแผนระบายน้ำหากมีพายุและปริมาณน้ำฝนลงมาเพิ่มจำนวนมาก รวมทั้งมีการจัดการสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำในคลองระบายน้ำต่าง ๆ 

เมื่อถามถึงการชดเชยเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งล่าสุด ศ.ดร.นฤมล ระบุว่า กระทรวงเกษตรฯได้ประเมินความเสียหาย และวางงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูทั้งหมดประมาณ 3,700 ล้านบาทและได้ส่งข้อมูลไปให้กระทรวงมหาดไทยแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ในสัปดาห์หน้า โดยงบดังกล่าวจะนำมาใช้ในเรื่องของข้าว เช่น การเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อแจกจ่าย รวมทั้งช่วยเหลือภาคปศุสัตว์และประมงที่ได้รับความเสียหายด้วย

“กระทรวงเกษตรฯได้หารือกัน เนื่องจากมีข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ว่า กว่าน้ำจะลด กว่าจะได้งบประมาณมา และของจะไปถึง อาจจะไม่อยู่ในฤดูกาลเพาะปลูกแล้ว จึงได้หารือกับปลัดกระทรวงเกษตรกรฯ และให้ติดตามเรื่องที่สำนักงบประมาณตามที่ได้เสนอไปว่า ในบางพื้นที่ ในบางจุด ในบางงบฯ จะขอเปลี่ยนแปลงเป็นการฟื้นฟูด้วยเม็ดเงินเพิ่มเติมให้เกษตรกรได้หรือไม่”ศ.ดร.นฤมล กล่าว

ด้านนายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวชี้แจงถึงการออกประกาศเตือน ลุ่มเจ้าพระยาฉบับที่ 10 พื้นที่ 11 จังหวัด เตรียมรับมือระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มว่า การที่เราจะระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที จะต้องขออนุญาตคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)จะทำโดยกรมชลประทานแห่งเดียวไม่ได้ ซึ่ง กนช.ได้อนุญาติเรียบร้อยแล้ว จึงต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมพร้อม โดยการระบายน้ำจะทำแบบขั้นบันไดค่อย ๆ ปล่อยน้ำไป การระบายน้ำที่จะเกิดขึ้น อาจจะไม่ถึงระดับที่เราได้ขออนุญาต กนช.ไป แต่จำเป็นที่ต้องขอเผื่อไว้ล่วงหน้า เนื่องจากต้องขอล่วงหน้าก่อน 3 วัน

จากนั้น ศ.ดร.นฤมล พร้อมด้วย 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรฯ และคณะได้เดินทางต่อไปยังวัดอินทาราม ต.วัดตะกู อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้งไปตรวจปริมาณน้ำบริเวณประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง ต.ทางช้าง อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และเดินทางไปยังสถานีสูบน้ำปากคลองรังสิต ถ.เลียบคลองประปา ต.บ้านใหม่ อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี 

/////