ปุ่มเปิดปิดลิฟต์รักษ์โลก ลดโลกร้อนได้

ก่อนที่จะพูดถึงการเปิดปิดประตูลิฟต์รักษ์โลก สามารถลดปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร เราขอพูดถึงที่มาของประเด็นนี้ก่อน 5 เรื่อง

 1. ช่วงนี้มีข่าวน้ำท่วมใหญ่ทั่วโลกที่พรากชีวิตคนไปมากมาย รวมทั้งบางครอบครัวสูญสิ้นทรัพย์สินจนสิ้นเนื้อประดาตัว ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ โรมาเนียในยุโรป  หรือรัฐเซ้าท์ดาโกตา รัฐไอโอวาในอเมริกา และประเทศไทยที่จังหวัดเชียงราย พะเยา หนองคายก็ไม่เว้น  

ปัญหานี้จึงไม่ใช่ภาระของเฉพาะของรัฐหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น  ทุกคนต้องช่วยกัน

2. ปรัชญาของวลีผีเสื้อกระพือปีก (butterfly effect) หรือ'เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว' หมายถึงการทำเพียงสิ่งเล็กๆ โดยคนธรรมดาก็สามารถมีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงได้  และประเด็นปิดเปิดประตูลิฟต์ก็จะมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ในที่สุด

3. ปัญหาน้ำท่วมที่พูดถึงนับวันจะมีถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น อย่างคาดเดาไม่ได้เพราะผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และผลกระทบนี้ไม่ใช่เพียงแค่น้ำท่วม ยังมีไฟป่า น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย แห้งแล้งสุดขั้ว การเกษตรล่มสลาย  โรคอุบัติใหม่ที่แพทย์ยังหาวิธีรักษาไม่เจอ ฯลฯ

4. การผลิตและการใช้พลังงานในทุกประเทศมีสัดส่วนของการปล่อยก๊าซ CO2 ออกมามากที่สุด จึงเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือที่เรารู้จักกันในชื่อเล่นว่าโลกร้อนโลกเดือดมากที่สุด  จึงต้องถูกเพ่งเล็งมากที่สุด

5. ถ้าเราแต่ละคนสามารถช่วยกันลดการใช้พลังงานไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใดได้ เราก็สามารถช่วยลดโลกร้อนได้ ตามปรัชญาเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวที่ว่านั่นเอง

เชื่อว่าทุกคนเคยมีประสบการณ์ที่กำลังจะเดินเข้าลิฟต์ แล้วมีคนที่อยู่ในลิฟต์รีบกดปุ่มปิดประตูลิฟต์ ทำให้เราเข้าไม่ได้  นั่นหมายถึงว่าเราต้องกดปุ่มเรียกลิฟต์มาใหม่อีกครั้ง ซึ่งนั่นคือการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น  

วิธีการแก้ปัญหานี้ทำได้ไม่ยากเลย  บริษัทผู้ผลิตลิฟต์ขายก็เพียงแค่ยกเลิกปุ่มปิดลิฟต์ (รูปที่ 1 ซ้ายมือ) ไม่ให้มีปุ่มนี้ในห้อง   ซึ่งจะทำให้ไม่ว่าใครและจะรีบอย่างไร ก็ไม่สามารถเร่งปิดประตูลิฟต์ให้คนอื่นเข้าไม่ได้ได้  จึงเป็นการลดโลกร้อนได้ง่ายๆเช่นนี้

ลิฟต์แต่ละตัวใช้มอเตอร์ขนาด 10 - 30 กิโลวัตต์  วันหนึ่งๆเดินขึ้นลงเป็น 100 ครั้ง  และทั่วโลกมีลิฟต์อยู่มากถึงประมาณ 20 ล้านตัว  ถ้ามีการต้องเรียกลิฟต์มาใหม่แบบไม่จำเป็นเช่นว่านั้นจะกินไฟเท่าไร  ปล่อยก๊าซ CO2 เท่าไร  เป็นรอยเท้าคาร์บอน(carbon footprint)เท่าไร   น่าคิดทีเดียว

ปุ่มเปิดปิดลิฟต์รักษ์โลก ลดโลกร้อนได้

ถัดไปเป็นเรื่องของการเปิดประตูลิฟต์  คราวนี้สมมุติว่าเราเป็นฝ่ายอยู่ในห้องลิฟต์และมีคนกำลังจะเดินเข้ามาขณะที่ประตูลิฟต์กำลังปิด  เราก็ควรจะกดปุ่มเปิดประตูลิฟต์ให้คนอื่นเข้ามาร่วมเดินทางไปกับเราได้ด้วย  

แต่อุปสรรคเล็กๆที่เรามักพบกัน คือ ปุ่มกดเปิดประตูลิฟต์นั้นบางครั้งก็ทำให้เราสับสน ดูรูปที่ 1 กับรูปที่ 2 (ตรงกลาง) เทียบกัน จะเห็นเส้นดิ่ง 2 เส้นที่หมายถึงบานประตูลิฟต์ที่อยู่ชิดติดกันตรงกลางทั้งคู่ ซึ่งนั่นจึงควรหมายถึงประตูปิดอยู่  แต่กลับมีลูกศรบอกว่ากดปุ่มจะให้เปิดหรือปิดก็ได้

ทว่าในวินาทีเร่งรีบนั้นบางคนมัวแต่สับสนว่าปุ่มไหนคือปิด ปุ่มไหนคือเปิด โดยเฉพาะปุ่มที่เป็นสเตนเลสสีเงินวาวในห้องลิฟต์ที่ไม่สว่างนัก จนมองกลืนกันไปหมด ทำให้ตัดสินใจไม่ทัน  จึงอาจกดผิด  กลายเป็นกดปิด ไม่ใช่กดเปิดอย่างที่อยากทำ  ประตูจึงปิดไม่ให้คนอื่นมาแชร์ลิฟต์ไปกับเรา  

นี่จึงเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานและปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไร้ประโยชน์ในรูปแบบเดียวกับที่กล่าวในข้อแรก  แต่คราวนี้แย่กว่านั้น คือ เรากลายเป็นผู้ร้ายไปแล้วด้วย

แล้วจะแก้ปัญหาที่ว่านี้ได้อย่างไร  ขอให้ดูรูปที่ 3 ทางขวา นั่นคือโรงงานทำลิฟต์ขายก็เพียงแต่เปลี่ยนสัญลักษณ์ของประตูลิฟต์  แทนที่จะเป็น 2 ขีดติดกันอย่างที่ทำกันมาเป็นร้อยปี ก็ทำให้เป็น 2 ขีดแยกห่างออกจากกัน อันเข้าใจได้ง่ายว่าหมายถึงประตูเปิด และมีลูกศรชี้ว่าให้ดันมันออกห่างกัน  ง่ายๆแค่นั้น

นี่หมายถึงกรณีที่ยังมี 2 ปุ่มเปิดปิด ที่ทำใหม่ ให้ดูง่ายขึ้น เลือกกดง่ายขึ้น

แต่ถ้าเราเลือกใช้รูปแบบที่ดีกว่านั้น คือ ให้เหลือเพียงปุ่มเดียว คือ ปุ่ม 3  เพื่อเปิดประตูเท่านั้น  ส่วนเรื่องการปิดก็ปล่อยให้เป็นแบบอัตโนมัติตามที่ตั้งเวลาไว้ให้เหมาะสม หรือจะให้ดีกว่านั้นก็ใช้กล้องจับความเคลื่อนไหวไว้ที่หน้าห้องลิฟต์แล้วใช้ AI ช่วยสั่งปิดประตูให้สอดคล้องกับหน้างานจริง  

คราวนี้ก็ง่ายที่สุดเพราะไม่ต้องเพ่ง ไม่ต้องเลือก ไม่ต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาทีว่าจะกดปุ่มใด  การต้องกดปุ่มเรียกลิฟต์มาอีกครั้งโดยไม่จำเป็นก็จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป  และ butterfly effect หรือเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวก็จะเกิดขึ้นได้โดยพวกเราชาวบ้านธรรมดาๆ ทุกคน และทุกวัน

หากสมมุติว่ายังมีการใช้ระบบ 2 ปุ่มที่คลุมเครือ และมีการกดปุ่มผิดวันละ 1% ของ 100 ครั้งการใช้ลิฟต์  วันหนึ่งๆในโลกก็จะมีการกดปุ่มผิด 0.01 × 100 × 20,000,000 ลิฟต์ เท่ากับ  20 ล้านครั้ง  ปีหนึ่งจะกดผิด 5,400 ล้านครั้ง(ไม่ได้ใช้ลิฟต์ทุกวัน) และ 50 ปีจะกดผิด 2.7 แสนล้านครั้ง   นี่คือปริมาณคาร์บอนมหาศาลที่ถูกปล่อยออกอย่างไร้ประโยชน์ และมีผลต่อโลกเดือดมากเกินจะจินตนาการไปถึง

ขอฝากแนวคิดใหม่นี้ให้สมาคมลิฟต์และบันไดเลื่อนแห่งประเทศไทยลองพิจารณาดู  ถ้าทำได้สำเร็จเราจะเป็นประเทศแรกที่สามารถใช้เพียงแค่การเปลี่ยนสัญลักษณ์ปุ่มลิฟต์รักษ์โลกมาลดโลกร้อนได้อย่างง่ายๆ  ไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่ลดปัญหาได้จริง.