รวบ 'เอก ท่าข้าม' โพสต์รับจ้างประกอบกีตาร์ ชิ่งหนีเสียหาย 100 ราย

รวบ 'เอก ท่าข้าม' โพสต์รับจ้างประกอบกีตาร์ ชิ่งหนีเสียหาย 100 ราย

สืบนครบาล รวบ 'เอก ท่าข้าม' โพสต์รับจ้างประกอบกีตาร์ในกลุ่มเฟซบุ๊ก สุดท้ายอ้างหมุนเงินไม่ทัน ชิ่งหนีผู้เสียหายกว่า 100 ราย

การปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาลออกแกะรอยสืบสวนจนพบบุคคลเฝ้าระวังในโลกโซเชียล

ซึ่งมีพฤติการณ์ใช้เฟซบุ๊กโพสต์หาลูกค้าในกลุ่มรับประกอบกีตาร์ ซ่อมกีตาร์ ให้โอนเงินค่ามัดจำ แต่ไม่ส่งของ มีผู้เสียหายกว่า 100 ราย จึงได้รีบทำการสืบสวนจับกุมให้ได้โดยเร็วก่อนจะไปก่อเหตุกับผู้อื่นอีก

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3 บก.สส.บช.น. จับกุมตัว นายวิทวัส หรือเอก อายุ 23 ปี ตามหมายจับศาลแขวงพระนครเหนือ ที่ 487/2567 ลง 7 ตุลาคม 2567 ซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดฐาน

  • ฉ้อโกง
  • โดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น
  • ยักยอก

จับกุม หน้าแฟลตอาคารสงเคราะห์ห้วยขวางอาคาร 7 ถนนประชาสงเคราะห์ แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

พฤติการณ์แห่งคดี ตามวันเวลาที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายเข้าแจ้งความ ณ สน.ห้วยขวาง ว่า เมื่อประมาณปลายเดือนมิถุนายน 2567 ผู้เสียหายสนใจที่จะสั่งกีตาร์มาใช้สักตัวจึงเข้าไปหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตก็พบเพจเฟสบุ๊ค ใช้โปรไฟล์กราฟฟิคตัวอักษร Hz จึงได้ติดต่อไปพูดคุยสอบถามกับเพจร้านดังกล่าว เพื่อสั่งทำกีตาร์ไฟฟ้า จำนวน 1 ตัว ราคา 10,000 บาท

ผู้ต้องหาได้ให้หมายเลขบัญชีธนาคาร ให้กับผู้เสียหายโอนเงินให้เป็นเหตุให้ผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินจำนวน 3,500 บาท เป็นค่ามัดจำ ต่อมาก็ได้โอนอีกส่วนที่เหลือจำนวน 6,500 บาท ไปเข้าบัญชีผู้ต้องหา หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามกับทางร้านว่าสามารถต่อปิคอัพเครื่องขยายเสียง เข้ากับกีตาร์ที่สั่งประกอบไปได้หรือไม่ ทางผู้ต้องหาแจ้งว่าทำได้ และได้ให้ที่อยู่จัดส่งของดังกล่าว

หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามว่าได้รับเครื่องขยายเสียงที่แจ้งไปแล้วหรือไม่ ผู้ต้องหาแจ้งว่าได้รับแล้ว หลังจากนั้นผู้เสียหายได้สอบถามเรื่องการประกอบกีต้าร์เรื่อยมา ก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมาโดยตลอดจนต่อมาผู้เสียหายเชื่อได้ว่าได้ถูกผู้ต้องหาหลอกหลวง เอาเงินได้รับความเสียหาย

ในชั้นการจับกุมผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า ผู้ต้องหาได้เปิดเพจ Facebook เพื่อรับประกอบกีตาร์ขาย รับซ่อมกีตาร์จริง โดยมีลูกค้าเข้ามาติดต่อเพื่อให้ผู้ต้องหาทำกีตาร์ ,ทำสีกีตาร์ เป็นจำนวนมาก

ต่อมาผู้ต้องหาได้ประสบปัญหาทางด้านการเงิน ทำให้ไม่สามารถหมุนเงินในการปรกอบธุรกิจได้ทัน จึงไม่ได้มีการผลิตกีตาร์ส่งให้กับผู้เสียหายได้ทันเวลา จึงผู้ต้องหาแจ้งว่าซึ่งรวมเป็นเงินที่เอาจากผู้เสียหายรวม 100 กว่าราย เป็นจำนวนเงินประมาณ 600,000 บาท หลังจากนั้นได้นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ กล่าวว่า บุคคลดังกล่าวนับเป็นภัยสังคมในโลกออนไลน์ หลอกคนเป็นจำนวนมาก ขอให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างมีสติ โดยเฉพาะการซื้อของในโลกออนไลน์นั้น ควรเลือกซื้อของจาก Official store หรือแพลตฟอร์มที่ไว้ใจได้ อย่างเช่น

  • Shopee
  • Lazada 

ที่ต้องมีการลงทะเบียนร้านค้าโดยใช้ข้อมูลจริง ตรวจสอบบัญชีผู้โอน ราสามารถสืบประวัติของผู้ขายเบื้องต้น โดยนำเลขที่บัญชีหรือชื่อของผู้ขายไปค้นหาบน Google เพื่อที่จะหาประวัติว่าเคยมีคนโพสต์เกี่ยวกับการฉ้อโกงในการซื้อของหรือไม่ เก็บหลักฐานการโอนเงินไว้เสมอ เพื่อเป็นการยืนยันว่าเราได้ชำระเงินซื้อสินค้านั้นอย่างถูกต้อง สลิปการโอนหรือแม้กระทั่งข้อความในแชทที่มีการสั่งซื้อสินค้า ถือได้ว่าเป็นข้อมูลสำคัญ

โดยเฉพาะชื่อ นามสกุล, เลขบัญชีของผู้ขาย, เบอร์ติดต่อ ฯลฯ ซึ่งหากมีปัญหาในการสั่งสินค้าขึ้นมา หลักฐานเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการดำเนินการทางด้านกฎหมายได้