ความรอบคอบในการใช้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ มาตรา 60
ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการรักษาสมดุล ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายและผลกระทบที่เกิดจากการบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คดีที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า
ทุกผลคำวินิจฉัยที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ) ย่อมเป็นผลบวกต่อฝ่ายหนึ่ง และเป็นผลลบต่ออีกฝ่ายอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
ในการแข่งขันกันทางธุรกิจ หลายครั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจมักมีพฤติกรรมทางธุรกิจที่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ทั้งที่ตั้งใจกระทำ หรืออาจกระทำโดยที่ไม่ทราบว่าเป็นความผิด เช่น การฝ่าฝืนตามมาตรา 50 (การใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ) มาตรา 54 และมาตรา 55 (การตกลงร่วมกัน) มาตรา 57 (การปฏิบัติทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม) เป็นต้น
ในกรณีดังกล่าว หากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีพฤติกรรม การกระทำที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ให้ กขค. มีอำนาจสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำนั้นได้ โดยที่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่นี้ของ กขค. ไว้ในมาตรา 60 ซึ่งคำสั่งของ กขค. ที่ออกภายใต้มาตรา 60 นี้ ถือเป็นคำสั่งทางปกครอง
เทียบเคียงกับกรณีมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ของไทยนั้น ทางหน่วยงานกำกับดูแลด้านการแข่งขันทางการค้าของสหภาพยุโรป (European Commission) เองก็มีการกำหนดแนวทางในการออกคำสั่งในลักษณะดังกล่าว หรือที่เรียกว่า การออกคำสั่งระหว่างการพิจารณาโดยเร่งด่วนและเป็นการชั่วคราว (Interim Measure)
โดยกำหนดให้ ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมีความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อการแข่งขันทางการค้า คณะกรรมการอาจมีคำสั่งภายใต้เงื่อนไข 3 เงื่อนไข ได้แก่
หนึ่ง มีหลักฐานอันควรเชื่อ (Prima Facie) สอง ความจำเป็นเร่งด่วน (Urgency) ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานะของตลาด ซึ่งจะต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน และสาม ความสมดุลแห่งประโยชน์ (Balance of Interests) โดยจะพิจารณาทั้งประโยชน์ของรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านการแข่งขัน (Theory of Harm) อย่างละเอียด เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาว่า คณะกรรมการเห็นควรแก่การออกคำสั่งดังกล่าว (มาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ) หรือไม่
ทั้งนี้เพื่อให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลและรวบรวมข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้เพียงพอ พร้อมทั้งรับฟังคู่กรณีที่เกี่ยวข้องจากทุกฝ่าย
ในขณะที่ ระเบียบ กขค. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจระงับ หยุด หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการกระทำ ตามมาตรา 60 พ.ศ. 2562 ข้อ 7 วรรคหนึ่งได้กำหนดไว้ว่า ในขั้นตอนการพิจารณาของ กขค. ต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจที่จะได้รับแจ้งคำสั่งมีโอกาสที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ และมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตน
แต่อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในวรรคหนึ่งมิให้นำมาใช้บังคับในกรณีดังต่อไปนี้ เว้นแต่ กขค. จะเห็นสมควรปฏิบัติเป็นอย่างอื่น กล่าวคือ
หนึ่ง เมื่อมีความจำเป็นเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ
สอง เมื่อจะมีผลทำให้ระยะเวลาที่กฎหมายหรือกฎกำหนดไว้ในการทำคำสั่งทางปกครองต้องล่าช้าออกไป
สาม เมื่อเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นเองได้ให้ไว้ในคำขอ คำให้การหรือคำแถลง
สี่ เมื่อโดยสภาพเห็นได้ชัดในตัวว่า การให้โอกาสดังกล่าวไม่อาจกระทำได้
ห้า เมื่อเป็นมาตรการบังคับทางปกครอง
หก กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งระเบียบฉบับนี้ยังได้ห้ามมิให้ กขค. ให้โอกาสตามวรรคหนึ่ง ถ้าการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการออกหรือใช้คำสั่งตามมาตรา 60 แห่ง พรบ. การแข่งขันทางการค้าฯ นั้น จำต้องอาศัยความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง ดังที่กล่าวข้างต้น คำสั่งใดๆ ที่เกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย ย่อมส่งผลกระทบทางบวกต่อฝ่ายหนึ่ง และส่งผลกระทบทางลบต่ออีกฝ่าย ดังนั้นการออกคำสั่งตามมาตรา 60 จึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ประการ
กล่าวคือ หลักฐานอันมีมูลเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นความผิด ความจำเป็นเร่งด่วน และความสมดุลของผลกระทบที่จะเกิดขึ้น กล่าวได้ว่า หากไม่คำนึงถึงองค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้ ผลที่ตามมาอาจขัดต่อเจตนารมณ์อันแท้จริงของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ที่ต้องการจะสร้างให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจในทุกระดับ
ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบธุรกิจเอง ก็จำต้องรู้และเข้าใจในองค์ประกอบ ของการพิจารณาการออกคำสั่งตามมาตรา 60 นี้ เพราะในอนาคตข้างหน้า อาจเป็นฝ่ายร้องขอให้มีการออกคำสั่ง หรืออาจต้องเป็นฝ่ายชี้แจงข้อมูลเพื่อเสนอเหตุผลในการโต้แย้งการออกคำสั่ง ทั้งนี้เพื่อปกป้องและสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนทั้งสิ้น.