สภาทนายความ เปิดเผยข้อมูลของทนายความได้หรือไม่

จากการตั้งข้อสังเกตผ่านการสื่อสารสาธารณะว่า สภาวิชาชีพต่าง ๆ อาทิ สภาทนายความจะสามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของทนายความ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปที่ประสงค์จะว่าจ้างทนายความตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น จะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือไม่

เรื่องนี้ ผู้เขียนมีแนวทางการตีความของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือและให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (“คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือฯ”) และคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่อาจนำมาเปรียบเทียบเป็นกรณีศึกษาได้ ดังนี้

ข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว สภาวิชาชีพบัญชีขอหารือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต “บนเว็บไซต์” ของสภาวิชาชีพบัญชี และการให้ข้อมูลสถานะของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตกรณีที่มีการสอบถามทางโทรศัพท์ ดังนี้

1.ข้อมูลชื่อ-สกุล 

2.เลขทะเบียนใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต 

3.ข้อมูลเกี่ยวกับสถานะใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทุกราย 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบสถานะของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตว่ามีสถานภาพปกติหรือถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือฯ มีความเห็นว่า การที่สภาวิชาชีพบัญชีเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 

กล่าวคือ “เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชี” และ “ควบคุมการประกอบวิชาชีพ” ถือเป็นการจำเป็นเพื่อการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินภารกิจเพื่อประโยชน์สาธารณะของผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล หรือปฏิบัติหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐที่ได้มอบให้แก่สภาวิชาชีพบัญชีในฐานะผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล

ซึ่งเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามมาตรา 24 (4) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ

สภาวิชาชีพบัญชีจึงสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการเปิดเผยข้อมูลชื่อ-สกุล เลขทะเบียนใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสถานะใบอนุญาตของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทุกรายบนเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี

เพื่อให้ประชาชนทั่วไป หรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบสถานะของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตว่า มีสถานภาพปกติหรือถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตหรือไม่

รวมทั้งการให้ข้อมูลสถานะของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต กรณีที่มีการสอบถามทางโทรศัพท์ โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล 

อย่างไรก็ดี การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวต้องกระทำเท่าที่จำเป็น (data minimization) ภายใต้วัตถุประสงค์อันชอบด้วยกฎหมายที่ได้แจ้งเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไว้ก่อนหรือในขณะที่เก็บรวบรวม และจะเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่แตกต่างไปจากวัตถุประสงค์ที่ได้แจ้งไว้มิได้ (purpose limitation)

เว้นแต่ (1) ได้แจ้งวัตถุประสงค์ใหม่นั้นให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบและได้รับความยินยอมก่อนเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยแล้ว หรือ (2) บทบัญญัติแห่งพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้ (ตามมาตรา 22 ประกอบมาตรา 21)

อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทุกรายที่อยู่ในความครอบครองของสภาวิชาชีพบัญชีบนเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี

ซึ่งสภาวิชาชีพบัญชีได้เคยหารือคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็นไว้ว่า

การเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์ และที่อยู่ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตบนเว็บไซต์ของสภาวิชาชีพบัญชี ยังไม่มีความจำเป็นต่อการตรวจสอบสถานะของผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงอาจเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควรตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการฯ ดังนั้น หากสภาวิชาชีพบัญชีจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในส่วนดังกล่าวจะต้องขอความยินยอมจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทุกรายก่อนนั้น 

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือฯ เห็นว่าในกรณีนี้ แม้สภาวิชาชีพบัญชีจะสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลโดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอม และสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลได้โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

แต่สภาวิชาชีพบัญชีจะต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็นตามอำนาจหน้าที่เพื่อการตรวจสอบสถานะของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต และต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์โดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่สมควร

และหากจะเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลในส่วนที่ไม่ได้มีความจำเป็นตามหน้าที่และอำนาจเพื่อการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ใด ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลก่อน

ในกรณีนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือฯ จึงมีความเห็นพ้องกับความเห็นของคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการว่า เฉพาะการเปิดเผยหมายเลขโทรศัพท์และที่อยู่ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต้องได้รับความยินยอมก่อน

จากกรณีศึกษาของสภาวิชาชีพบัญชีดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่า สภาทนายความ หรือสภาวิชาชีพอื่น ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพ กำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และรับขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพบัญชี/ออกใบอนุญาต/พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาต ฯลฯ

สามารถเปิดเผยข้อมูลของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้ประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบสถานะของผู้รับใบอนุญาตว่ามีสถานภาพปกติหรือถูกพักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาตได้

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการและป้องกันการฉ้อฉลหลอกลวงโดยมิจฉาชีพที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ

แต่การเปิดเผยดังกล่าวควรให้บริการตรวจสอบผ่านระบบสารสนเทศหรือเว็บไซต์ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูลตามเงื่อนไขที่กำหนด จะเป็นการเหมาะสมกว่าการเปิดเผยข้อมูลของผู้รับใบอนุญาตทั้งหมดในภาพรวมผ่านเว็บไซต์เป็นการทั่วไป ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงจากโอกาสเกิดเหตุการณ์ข้อมูลรั่วไหลสูงขึ้น.

อ้างอิง

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจตอบข้อหารือและให้คำแนะนำหน่วยงานของรัฐเพื่อรองรับการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562, “เรื่อง ขอหารือการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล”, ที่มา https://www.pdpc.or.th/wp-content/uploads/2024/02/PDPC-consultation-24.pdf