สทนช. เตรียมรับมือภัยแล้ง ภาคอีสาน ชี้ ปริมาณน้ำทั่วประเทศ 82% ของความจุ

สทนช. เตรียมรับมือภัยแล้ง ภาคอีสาน ชี้ ปริมาณน้ำทั่วประเทศ 82% ของความจุ

คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ เฝ้าระวังฝนตกหนักภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมเตรียมรับมือภัยแล้งในอีสานใต้ ระบุ ปริมาณน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมีจำนวน 82% ของความจุ

วันนี้ (6 พ.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 3/2567 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ในระยะนี้ประเทศไทยมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนเข้ามาตามแนวร่องมรสุม ส่งผลให้ปริมาณฝนในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยที่มีแนวโน้มฝนตกหนักมาก จึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดตั้งแต่พื้นที่จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ลงไป 

ทั้งนี้ สทนช. มีการติดตามวิเคราะห์และประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ล่วงหน้าทั้งระยะสั้นราย 3 วัน และระยะยาว 3 เดือน (พ.ย. 67 - ม.ค. 68) เพื่อใช้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงดินโคลนถล่ม ช่วยป้องกันและลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในวันนี้ได้ติดตามเรื่องการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพื่อรองรับกรณีประชาชนในจุดเสี่ยงจำเป็นต้องอพยพจากที่พักอาศัย ซึ่งปัจจุบันมีการเตรียมแผนจัดตั้งศูนย์พักพิงแบบถาวรร่วมใจอุ่นไอรัก โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 12 แห่ง รวมถึงศูนย์พักพิงชั่วคราวอีกจำนวน 3,033 แห่ง โดยเน้นย้ำให้มีการเตรียมพร้อมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของภาคใต้มากที่สุด

สทนช. เตรียมรับมือภัยแล้ง ภาคอีสาน ชี้ ปริมาณน้ำทั่วประเทศ 82% ของความจุ

 

นอกจากนี้ ยังคงกำชับให้มีการระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากหรือปริมาณน้ำเกินความจุเพื่อให้มีช่องว่างรองรับฝนที่จะตกในช่วงหลังจากนี้ สำหรับอ่างฯ บางลางยังคงอัตราการระบายน้ำอยู่ในอัตรา 12 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเตรียมการรับมือน้ำหลากในช่วงเดือน พ.ย. 67 - ม.ค. 68

“ที่ประชุมยังได้ติดตามสรุปผลการถอดบทเรียนแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่ผ่านมา แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการพยากรณ์และเตือนภัย ด้านการรับรู้ความเสี่ยงของพื้นที่ ด้านการเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ และเครื่องจักรเครื่องมือ และด้านการประชาสัมพันธ์ โดยจะนำผลที่ได้รับมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับมือกับปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้ดียิ่งขึ้นผ่านการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการเชื่อมโยงทุกลุ่มน้ำกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พร้อมทั้งจะรายงานผลการดำเนินงานให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รับทราบในการประชุมวันที่ 11 พ.ย. 67 ต่อไป

ทั้งนี้ นอกเหนือจากฤดูฝนของภาคใต้ซึ่งมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องแล้ว อิทธิพลของลมตะวันตกยังส่งผลให้ในช่วง 1 – 2 วันนี้ มีแนวโน้มฝนเพิ่มขึ้นและลมกระโชกแรงในพื้นที่ภาคเหนือฝั่งตะวันตก บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย และเชียงใหม่ โดยจะมีการติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกัน” ดร.สุรสีห์ กล่าว

สทนช. เตรียมรับมือภัยแล้ง ภาคอีสาน ชี้ ปริมาณน้ำทั่วประเทศ 82% ของความจุ

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยมีจำนวน 82% ของความจุ ซึ่งทางภาครัฐได้วางแผนในการส่งเสริมเกษตรกรในการเพาะปลูกนาปรังและพืชฤดูแล้งอื่น ๆ รวมกว่า 15 ล้านไร่ รวมถึงได้กักเก็บน้ำต้นทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ได้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ปี 2567/68

อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่บริเวณตอนบนของประเทศมีแนวโน้มที่อาจจะประสบปัญหาภัยแล้งได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานใต้ ซึ่งมีฝนตกน้อยกว่าปีที่ผ่านมาและน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอ่างฯ ขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยอ่างฯ ลำแชะ อ่างฯ มูลบน และอ่างฯ นางรอง มีปริมาณน้ำประมาณ 50% ของความจุ ในขณะที่อ่างฯ ลำตะคองมีปริมาณน้ำเพียง 33% ของความจุ เท่านั้น

ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กนช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งมอบหมายให้ สทนช. ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหากมีพื้นที่ในจังหวัดอื่น ๆ ซึ่งมีความเสี่ยงประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ให้เร่งลงพื้นที่เพื่อวางแนวทางในการบริหารจัดการน้ำก่อนประสบภัยต่อไป