เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ เร่งพร่องน้ำรองรับน้ำหลาก

เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้ เร่งพร่องน้ำรองรับน้ำหลาก

​ศปช. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง ในพื้นที่ภาคใต้มีน้ำกักเก็บมาก 80 - 100% เร่งพร่องน้ำรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝน เตือนประชาชนภาคเหนือ “เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน” ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 7 - 9 พ.ย. นี้

วันนี้ (7 พ.ย. 67) นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. เปิดเผยว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ประกาศเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำบางลาง จ.ยะลา และอ่างเก็บน้ำรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งปัจจุบันเร่งพร่องน้ำเพื่อรองรับน้ำหลากในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ถึง มกราคม 2568 และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมาก (80-100%) ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 8 แห่ง ดังนี้

อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย

  1. อ่างเก็บน้ำห้วยวังเต็น อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
  2. อ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
  3. อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด อ.เขาพนม จ.กระบี่
  4. อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ.ปลายพระยา จ.กระบี่
  5. อ่างเก็บน้ำบางวาด อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
  6. อ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
  7. อ่างเก็บน้ำคลองกะทะ อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต

อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

  1. อ่างเก็บน้ำคลองสวนหนัง อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

และเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำมาก (มากกว่า 100%) ในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 1 แห่ง ได้แก่

  1. อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ.ปลายพระยา จ.กระบี่

 

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่เฝ้าระวังปริมาณน้ำน้อย จำนวน 3 แห่ง ประกอบด้วย

  1. อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จ.สกลนคร
  2. อ่างเก็บน้ำจาภรณ์ จ.ชัยภูมิ
  3. อ่างเก็บน้ำลำตะคอง จ.นครราชสีมา

ซึ่ง สทนช. ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำสอดดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อสำรองไว้ใช้ในช่วงถูดูแล้งที่จะมาถึงให้ได้มากที่สุด

ด้านกรมทรัพยากรธรณีขอให้ประชาชนพื้นที่ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ อ.ฝาก เชียงดาว แม่แจ่ม เวียงแหง และ จ.แม่ฮ่องสอน อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ปาย ปางมะผ้า ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ธรณีพิบัติภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ช่วงวันที่ 7 - 9 พฤศจิกายน 2567
 

ส่วนสถานการณ์อุทกภัยทางภาคใต้ที่ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ย ที่ผ่านมาในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช และกระบี่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ลงพื้นที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือซึ่งสถานการณ์ในปัจจุบันได้คลี่คลายแล้ว และในส่วนของพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรียังดำเนินการเฝ้าติดตามเร่งระบายน้ำ โดยจะดำเนินการระบายน้ำแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ย. นี้ 

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม จะเป็นประธานประชุมคณะทำงานฯ เพื่อรับทราบผลการดำเนินการและเตรียมแผนมาตรการรับมือสถาการณ์อุทกภัยในพื้นที่ส่วนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง