ภัย หลอกให้กู้เงิน ให้โอนค่าดำเนินการค่าสัญญาค่าประกัน สุดท้ายสูญเงิน

ภัย หลอกให้กู้เงิน ให้โอนค่าดำเนินการค่าสัญญาค่าประกัน สุดท้ายสูญเงิน

เตือนภัย มิจฉาชีพโพสต์เฟซบุ๊กหลอกให้กู้เงิน ให้โอนค่าดำเนินการค่าสัญญาค่าประกัน สุดท้ายสูญเงิน

กรณีสืบนครบาล รวบบัญชีม้า มิจฉาชีพ โพสต์เฟซหลอกให้กู้เงิน จากนั้นให้โอนค่าดำเนินการค่าสัญญาค่าประกัน สุดท้ายสูญเงิน

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.3 บก.สส.บช.น. ได้ร่วมกันจับกุมตัว น.ส.กรณิกา อายุ 33 ปี ตามหมายจับศาลจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ 424/2567 ลง 1 ก.ค. 67 กระทำผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ บิดเบือนหรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน" จับกุม บริเวณริมถนนประดิพัทธ์ แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม

พฤติการณ์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ผู้เสียหายได้เปิด Facebook พบโปรไฟล์ชื่อ 'พณคิน ผดุลย์' โพสต์ประกาศว่า ปล่อยกู้เงิน ผู้เสียหายเลยสนใจขอกู้เป็นจำนวนเงิน 15,000 บาท จึงทักไปขอตามคำประกาศ ได้ส่งข้อความคุยกัน คนร้ายได้บอกผู้เสียหายว่ามีค่าดำเนินการเพื่อเป็นค่าดำเนินการกู้ในครั้งแรก

ต่อมาให้โอนค่าสัญญาในการกู้อีก และมีค่าประกันเงินกู้อีก จึงคาดว่าถูกหลอกจึงได้โทรสายด่วน 1441 ศูนย์ AOC เพื่อแจ้ง และพนักงานสอบสวนได้ทำการเรียกมาสอบปากคำดำเนินคดีต่อไป

ในชั้นจับกุม ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ เนื่องจากบัญชีที่ถูกกล่าวอ้างนั้น ตนได้เปิดให้กับคนรู้จักบอกว่าฝากเปิดบัญชี ให้ 1 บัญชี โดยจะเอาบัญชีไปเล่นเกมพวกพนันออนไลน์ ปั่นสลอต หากได้เงินจะนำมาแบ่งกันใช้ โดยหลังจากเปิดบัญชีได้รับเงินจำนวน 500 บาท

ซึ่งปัจจุบันได้พยายามไล่ปิดบัญชีที่นำไปเปิดให้กับคนอื่นแล้วหลายบัญชี เนื่องจากได้รับหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมกว่า 20 หมายเรียก ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเสียรู้เปิดบัญชีม้าแรกกับเงินจำนวนเล็กน้อย เงินที่เอาไปจากผู้เสียหายตนไม่รู้เรื่องในการหลอกลวงใดๆ เพราะไม่ได้ใช้บัญชีเลย พึ่งติดคุก 3 เดือน เพราะเคสกรณีเดียวกัน

จากนั้นได้นำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ขอฝากเตือนประชาชน อย่าหลงเชื่อโพสต์เชิญชวนให้กู้เงินตามสื่อโซเชียล โฆษณาบนเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ส่ง SMS หรือแม้แต่โทรหาโดยตรง หากผู้ที่ได้รับการติดต่อสนใจ มิจฉาชีพก็จะส่ง SMS มาให้คลิกลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอป หรือให้แอดไลน์คุยกัน จากนั้นจะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ให้ทำสัญญาเงินกู้ และขอเอกสาร เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีเงินฝาก คล้ายกับการขอกู้ที่ธนาคาร ทำให้เหยื่อเริ่มเชื่อใจ

จากนั้นจะโน้มน้าวให้โอนเงินเป็นค่าค้ำประกัน โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมกับเงินกู้ หากหลงกลก็จะหลอกล่อให้โอนเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เช่น อ้างว่าโอนเงินไม่ได้เพราะเหยื่อกรอกเลขที่บัญชีผิด มีค่าใช้จ่ายในการแก้ไขเอกสารเพื่อปลดล็อก หรือต้องจ่ายค่าลัดคิวจึงจะได้เงินเร็วขึ้น หากเหยื่อเริ่มรู้ทันก็จะถูกบล็อก ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้อีก

สุดท้ายเราสามารถตรวจสอบรายชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการ นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปเทียบกับรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาต โดยสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล