กปร.ขยายผล เพิ่ม 221 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ '5 ดี'

กปร.ขยายผล เพิ่ม 221 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ '5 ดี'

กปร.มอบโล่-เกียรติบัตร ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร พัฒนาเกษตรกร ให้ดำรงชีพอย่างมั่นคง ยั่งยืน เร่งขยายผลเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ "5 ดี" เผยผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว 221 แห่ง

นางสุพร ตรีนรินทร์ เลขาธิการ คณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโล่พร้อมเกียรติบัตรให้ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร และศูนย์สาขา ว่า สํานักงาน กปร. ได้สนับสนุนให้เกษตรกรที่มาอบรมศึกษาดูงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ นําความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีพ มีจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จ มีกิน มีใช้เพียงพอ เหลือขายสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว ได้อย่างความมั่นคงและยั่งยืน

ทั้งนี้ เพื่อขยายผลไปสู่เกษตรกรรายอื่นๆ ได้เข้าถึงโอกาสอย่างกว้างขวาง กปร.จึงจัดทำโครงการขยายเสริมเพิ่มเครือข่ายศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการต่อยอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กระจาย และสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ  โดยร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินและกระบวนการตามหลัก Plan Do Check Act : PDCA และจัดทำเป็นคู่มือการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริขึ้น  ซึ่งมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์ประเมินแล้ว จำนวน 221 แห่ง โดยมีองค์ความรู้หลายสาขา ได้แก่ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ ประมง ปศุสัตว์ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่นๆ

กปร.ขยายผล เพิ่ม 221 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ \'5 ดี\'

“ในปี 2567 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ และศูนย์สาขา ได้รับโล่พร้อมเกียรติบัตร ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ และเกษตรผสมผสาน จำนวน 43 แห่ง ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 35 แห่ง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยบางทรายตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2 แห่ง โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 3 แห่ง และโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคี (ลุ่มน้ำลำพะยัง) 3 แห่ง แต่ละศูนย์ฯ มีแนวทางและวิธีการในการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม สามารถนำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ทันที ที่สำคัญคือมีคุณสมบัติครบ 5 ดี คือ เป็นคนดี มีพันธุ์พืชดี มีพื้นที่ดี มีองค์ความรู้ดี และมีความยั่งยืน จึงได้รับโล่และเกียรติบัตรเป็นศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ ปี 2567” นางสุพร  กล่าว

ด้านนายสรรัตน์ ปวริญญานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เผยว่า จังหวัดสกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง ในอดีตเกษตรกรส่วนใหญ่จะทำเกษตรเชิงเดี่ยว ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ดินเสื่อมโทรม ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และมีปัญหาด้านการตลาด ดังนั้นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่จึงเป็นแนวทางที่เหมาะสมสำหรับช่วยให้เกษตรกรทำการผลิตที่เหมาะสม ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีกินมีใช้อย่างมั่นคง

“ภายในศูนย์ศึกษาฯ มีแปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้ เป็นแนวทางและวิธีปฏิบัติที่สอดคล้องกับแรงงานภายในครอบครัว สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ เป็นเกษตรกรต้นแบบ จะเป็นแม่แบบที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาฯ แล้วนำไปขยายผลในพื้นที่การเกษตรของตนเองจนประสบความสำเร็จ สามารถถ่ายทอดสู่เพื่อนเกษตรกรรายอื่นๆ ได้  เป็นการถ่ายถอดประสบการณ์ตรงจากเกษตรกรสู่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยให้การขยายผลประสบความสำเร็จรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายสรรัตน์  กล่าว

กปร.ขยายผล เพิ่ม 221 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ \'5 ดี\'

ด้านนายทองจิต และนางบัญชี พรหมสาขา ณ สกลนคร สามีภรรยาเกษตรกร ขยายผลจากที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรกรต้นแบบตามแนวพระราชดำริ บ้านบึงสา ต.จันทร์เพ็ญ อ.เต่างอย จ.สกลนคร โดยนางบัญชีเล่าว่า ในอดีตทำนา เมื่อเสร็จจากทำนาจะปลูกข้าวโพด และมะเขือเทศ ตามโควตา เพื่อส่งโรงงานหลวงดอยคำในพื้นที่ อ.เต่างอย ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสาน เมื่อไปเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ 

จากนั้นได้ปรับพื้นที่จำนวน 3 ไร่ 3 งาน แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ปลูกกล้วยหอมทองพันธุ์ปทุมธานี โดยขยายพันธุ์เอง ซึ่งระหว่างรอผลผลิตเติบโตออกเครือ เพื่อจะจำหน่ายได้ ก็จะปลูกพืชผักอื่นๆ แซมในแปลงกล้วย อาทิ ถั่วฟักยาว บวบเหลี่ยม ถั่วพลู และมะเขือเทศ ทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ผลผลิตจะส่งจำหน่ายให้แก่ร้านค้าในพื้นที่ นอกจากนี้ลูกสาวก็จะช่วยขายผ่านทางออนไลน์อีกด้วย

ในตอนนี้ได้เริ่มปลูกผักก้านจอง หรือผักพาย สร้างรายได้เป็นอย่างดี มีตลาดรองรับ ผู้คนนิยมรับประทานกับน้ำพริก ลาบ และได้รับการสนับสนุนปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทำให้ประหยัดค่าไฟได้เดือนละ 500-700 บาท สำหรับการปลูกมะเขือเทศเชอรี่นั้น ได้รับความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทั้งการเพาะพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว การปลูกพืชผักจะจัดวางระบบวงรอบการปลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวส่งขายได้ทุกวันทำให้ ไม่กระทบต่อความต้องการของตลาด และ ครอบครัวมีรายได้ทุกวัน

“รู้สึกภูมิใจที่ ทาง สำนักงาน กปร. มอบโล่เป็นรางวัลตอบแทนในความเพียรพยายาม เป็นกำลังใจที่จะต่อสู้ต่อไป และตั้งใจน้อมนำแนวพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิต และการประกอบอาชีพ รู้สึกซาบซึ้งใจที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้พระราชทานศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ทำให้ชาวบ้านเต่างอย มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ต่างจากเมื่อก่อนที่แห้งแล้ง เมื่อศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ มีกิจกรรมและการอบรมต่างๆ ก็จะไม่พลาดที่จะเข้าไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และจะตั้งใจนำมาต่อยอดกิจกรรมที่ทำอยู่ให้มีความก้าวหน้าต่อไป และยินดีที่จะนำความรู้เหล่านี้ถ่ายทอดสู่เกษตรกร ผู้ที่สนใจเพื่อนำไปทำในพื้นที่ของตนเองอย่างเต็มที่” นางบัญชี  กล่าว

กปร.ขยายผล เพิ่ม 221 ศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ แม่แบบ \'5 ดี\'

ขณะที่ น.ส.ณัฏกานต์ ดากาวงค์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ที่รับช่วงต่อจากพ่อแม่ โดยเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ บ้านนาเลา และเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวฮางงอก  เปิดเผยว่า หมู่บ้านเป็นพื้นที่รอบศูนย์ศึกษาฯ จึงได้รับองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ตั้งแต่ การเพาะปลูก การแปรรูป ไปจนถึงการทำการตลาด โดยเริ่มจากปลูกพืชเพื่อให้มีบริโภคในครัวเรือน  ต่อมามีเหลือจึงนำออกขาย ส่วนที่ขายไม่หมดเอามาแปรรูปขายเช่นกัน

สำหรับศูนย์เรียนรู้ตามแนวพระราชดำริบ้านนาเลา อ.เต่างอย จ.สกลนคร  มีกิจกรรมการแปรรูปข้าวฮางงอก ทำขนมข้าวอบซีเรียลบาร์ ผลิตสบู่ขมิ้น สบู่นมข้าว สบู่มะขาม ซึ่งกำลังปรับปรุงสถานที่การผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐาน อย. พร้อมผลิตปลาร้าขวด และผ้าทอ ดำเนินการในรูปแบบกลุ่มเช่นกัน  และกำลังขยายเครือข่ายกลุ่มคนหนุ่มสาวต่อยอดมาจากกลุ่มผ้าขาวม้าที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยรวมกลุ่มตัดเย็บผ้าทอ จากผ้าขาวม้า ผ้าย้อมคราม และผ้าพื้นบ้านต่างๆ มาตัดเย็บเป็นเสื้อ กางเกง กระเป๋า เป็นการเพิ่มชนิดผลิตภัณฑ์ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

“รู้สึกภูมิใจที่ได้รับโล่ในครั้งนี้ และภูมิใจที่ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านมอบให้ ทำให้รู้จักทำกิน ทำใช้ มีกิน มีใช้ สร้างประโยชน์ในชุมชนและครัวเรือน ชุมชนมีความสามัคคีมีส่วนร่วม ที่สำคัญชุมชนมีรายได้อีกด้วย ภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ร่วมสืบสาน รักษา ต่อยอดงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอขอบคุณสำนักงาน กปร. ที่ได้สนับสนุนและให้โอกาสเป็นอย่างดี” น.ส.ณัฏกานต์ กล่าว