สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลง...ทำได้แค่ไหน?
การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าในการทำธุรกิจระหว่างกันของผู้ประกอบธุรกิจ อาจถือเป็นพฤติกรรมทางธุรกิจที่เป็นปกติของการทำการค้าร่วมกัน
ยิ่งเงื่อนไขที่ถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขปกติของการทำการค้า ย่อมสะท้อนออกมาซึ่งพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า ที่แอบแฝงไว้ด้วยผลประโยชน์ของฝ่ายที่เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข โดยเฉพาะในลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบธุรกิจบางประการ
เงื่อนไขทางการค้าดังกล่าวอาจนำมาซึ่งพฤติกรรมทางธุรกิจที่ขัดต่อบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ) ก็เป็นได้
มาตรา 50 (2) แห่ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ได้กำหนดว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาด กระทำการในลักษณะกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมให้กับผู้ประกอบธุรกิจอื่นซึ่งเป็นคู่ค้าของตน ต้องจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ หรือการจำหน่ายสินค้า หรือต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า การได้รับหรือให้บริการ หรือในการจัดหาสินเชื่อจากผู้ประกอบธุรกิจอื่น
มาตรา 57 (1) หรือ (3) ได้กำหนดในลักษณะคล้ายกันว่า ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจทำการใด ๆ อันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่น ในลักษณะกีดกันการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นอย่างไม่เป็นธรรม หรือกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม
จะเห็นได้ว่า ทั้งสองมาตราที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นนั้นให้ความสำคัญในประเด็นของ “การกำหนดเงื่อนไขทางการค้า” และการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่มักเป็นข้อพิพาททางคดีของการแข่งขันทางการค้า คือ การกำหนดข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่เป็นการ “จำกัดสิทธิเฉพาะ” หรือที่เรียกว่า “Exclusivity”
กล่าวคือ เป็นข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่มีลักษณะเป็นการบังคับทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยที่ข้อตกลงหรือเงื่อนไขดังกล่าวนั้น มีลักษณะที่ไม่เป็นธรรม
เช่น เจ้าของแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารบังคับให้ร้านค้าที่จะเข้ามาใช้บริการ ต้องไม่ใช้บริการแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหารรายอื่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มบังคับให้ร้านอาหารต้องขายผลิตภัณฑ์ของตนเพียงรายเดียวภายในร้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ข้อห้ามของการจำกัดสิทธิเฉพาะ จะไม่รวมถึงสองกรณีดังกล่าวนี้ คือ หนึ่ง กรณีที่เป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้ง (Authorized Dealer) และ สอง กรณีที่เป็นแฟรนไชส์ (Franchise) โดยการทำข้อตกลงจำกัดสิทธิเฉพาะ จะประกอบไปด้วย 2 รูปแบบ กล่าวคือ
1) สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลง (Exclusivity Dealing) ซึ่งก็คือ การกำหนดเงื่อนไขให้คู่ค้าต้องซื้อหรือจำหน่ายสินค้าหรือบริการจากตนเท่านั้น หรือกล่าวอีกนัยคือ การห้ามไม่ให้คู่ค้าจำหน่ายสินค้าของคู่แข่งนั่นเอง และ
2) สิทธิเฉพาะด้านอาณาเขต (Exclusivity Territories) ซึ่งหมายถึง การจำกัดพื้นที่ขายให้แก่คู่ค้า
กล่าวได้ว่า สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลง เป็นพฤติกรรมที่ผู้ประกอบธุรกิจฝ่ายหนึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ อีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นคู่ค้าของตนทำข้อตกลงยอมรับเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการจำกัดสิทธิไม่ให้ซื้อหรือขายสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่ง
และแม้การทำข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิของคู่ค้า จะเป็นการกีดกันการแข่งขันทางการค้าที่นำไปสู่การผูกขาด หรือกีดกันให้คู่แข่งต้องออกจากตลาด หรือเป็นการสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมต้องห้ามตามมาตรา 50 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าฯ ก็ตาม
แต่สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลง ยังสามารถกระทำได้ไม่เพียงแต่การเป็นตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับการแต่งตั้งและการเป็นแฟรนไชส์ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นเท่านั้น หากยังหมายรวมถึง สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากความยินยอมของทั้งฝ่ายผู้เสนอ และฝ่ายผู้รับข้อเสนอเพื่อให้สมประโยชน์กับธุรกิจของตน อีกด้วย
เช่น จากรณีตัวอย่างข้างต้น ผู้ผลิตเครื่องดื่ม (ผู้เสนอเงื่อนไข) ทำข้อตกลงกับร้านอาหาร (ผู้รับข้อเสนอ) ให้จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์ของตนเพียงรายเดียว ห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งตลอดช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้ผลิตเครื่องดื่มจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการขายทั้งหมด ในรูปแบบต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็น การแจกของสมนาคุณให้กับลูกค้าของร้านอาหาร การจัดแสดงคอนเสิร์ตโดยลูกค้าของร้านอาหารไม่ต้องเสียค่าเข้าชม รวมไปถึงสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมรายการซึ่งจะแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับร้านอาหารที่ไม่เข้าร่วมรายการ เป็นต้น
จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลงนั้นสามารถกระทำได้ และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าฯ ตราบใดที่เงื่อนไขภายใต้สิทธิเฉพาะด้านข้อตกลงนั้นเกิดขึ้นจากความยินยอมของทั้งฝ่ายผู้เสนอและผู้รับข้อเสนอ โดยเงื่อนไขที่เกิดขึ้นเหล่านั้นมีเหตุและผลในการดำเนินธุรกิจที่เป็นธรรม.