เสริมความสามารถการแข่งขันด้วยการค้าที่เป็นธรรม

เสริมความสามารถการแข่งขันด้วยการค้าที่เป็นธรรม

“การแข่งขันทางการค้า” (Competition) และ “ขีดความสามารถทางการแข่งขัน” (Competitiveness) แม้จะมีความหมายที่ต่างกัน แต่การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในที่สุด

กล่าวได้ว่า เจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า คือ “ต้องการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจในทุกระดับให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมมากที่สุด”

ด้วยเหตุนี้ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หรือ สำนักงาน กขค. จึงมีภารกิจสำคัญคือ การสร้างกฎกติกาในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการด้านการแข่งขันทางการค้าเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม เพื่อก่อให้เกิดความเข้มแข็งกับภาคธุรกิจของประเทศ

และที่สำคัญ กฎหมายการแข่งขันทางการค้า มิได้มุ่งเน้นในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน หากแต่มุ่งเน้นเรื่องของการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับล้วนต้องดำเนินธุรกิจภายใต้กฎ กติกาเดียวกัน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลทางการค้าขึ้นในตลาดการแข่งขัน

สำนักงาน กขค. จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายด้วยการใช้ “มาตรการการปราบปราม” กล่าวคือ ปราบปรามพฤติกรรมทางธุรกิจที่เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ควบคู่ไปกับ “มาตรการการป้องปราม” กล่าวคือ การสร้างจิตสำนึกและการสร้างวัฒนธรรมในการแข่งขันทางการค้า

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมการแข่งขันทางการค้าที่เอื้อต่อการแข่งขัน และผู้ประกอบธุรกิจจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม สร้างโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาตนเอง มีทุนเพียงพอต่อการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ

ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันทางการค้า และสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบธุรกิจในต่างประเทศได้

อีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการประกอบธุรกิจอย่างเสรีและเป็นธรรม คือ การปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และรู้จักใช้ประโยชน์จากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในทางที่ถูกต้อง

กล่าวคือ ไม่แสวงหาโอกาสในการเอาเปรียบทางธุรกิจในทางที่ผิดต่อคู่ค้า รวมถึงคู่แข่งทางธุรกิจของตนในทุกกรณี และนี่ถือเป็นการสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งสำนักงาน กขค. จำต้องเดินหน้ารณรงค์และส่งเสริมต่อไป

กล่าวได้ว่า ผู้ประกอบธุรกิจในหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เพราะผู้ประกอบธุรกิจในประเทศเหล่านั้นเชื่อว่า การแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมจะนำไปสู่การพัฒนาผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับ และเสริมสร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ๆ ของประเทศให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นในตลาดโลก

ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จำต้องสร้างผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ให้มาก เพื่อสามารถแข่งขันกันในระดับโลกได้ ซึ่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าสามารถเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ ก็ต้องไม่มีพฤติกรรมทางธุรกิจที่เป็นการเอาเปรียบหรือรังแกผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่เล็กกว่าภายในประเทศ ไม่ว่าจะในรูปแบบการใช้อำนาจเหนือตลาด อำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม หรือการฮั้วกันก็ตาม

ซึ่งในส่วนนี้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเข้ามากำกับดูแล และควบคุมไม่ให้เกิดพฤติกรรมทางธุรกิจที่ไม่เหมาะสม ยิ่งกว่านั้น ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายการแข่งขันทางการค้า ยังเป็นเสมือนเกราะป้องกันหรือวัคซีนที่จะช่วยสร้างภูมิต้านทานในการประกอบธุรกิจให้สามารถปฏิบัติทางการค้าได้อย่างถูกต้องอีกด้วย

ดังที่กล่าวข้างต้น เมื่อเกิดการแข่งขันทางการค้าที่เสรีและเป็นธรรมมากที่สุดแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับย่อมได้รับประโยชน์จากความเป็นธรรมนั้น ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ของประเทศสามารถแข่งขันทางธุรกิจในเวทีโลกได้

ในขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจรายที่เล็กกว่าในประเทศ ก็สามารถพัฒนาตนเองจนก้าวไปสู่ผู้ประกอบธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ขึ้นในอนาคตได้ และนี่คือการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจของประเทศ ผ่านกฎหมายการแข่งขันทางการค้านั่นเอง