ทลายโรงงาน ลอบผลิตเครื่องสำอางปลอม ส่งขายภาคอีสาน ยึดของกลางกว่า 4 หมื่นชิ้น
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ทลายโรงงานเถื่อน ลอบผลิตเครื่องสำอางปลอมในบ้านพักส่งขายพื้นที่ภาคอีสาน ยึดของกลางกว่า 4 หมื่นชิ้น มูลค่ากว่า 2 ล้านบาท
ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมกันตรวจยึดเครื่องสำอางปลอมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น ตรวจยึดของกลาง 38 รายการ จำนวนกว่า 40,000 ชิ้น มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
เบื้องต้นเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558
- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้จดแจ้ง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- ฐาน “ผลิตเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฐาน “ขายเครื่องสำอางปลอม” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สถานที่ตรวจยึด พื้นที่ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น
สืบเนื่องจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังเครื่องสำอางที่เป็นผลิตภัณฑ์ปลอม และไม่มีเลขจดแจ้ง เนื่องจากไม่ทราบถึงส่วนผสมและมาตรฐานการผลิต ซึ่งหากประชาชนซื้อไปใช้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ และเกิดปัญหาต่อผิวและร่างกายในระยะยาว ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบสถานที่แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ชุมแพ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ว่ามีการลักลอบผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยส่งขายในพื้นที่ภาคอีสานเป็นจำนวนมาก
เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. จึงได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีการลักลอบผลิตเครื่องสำอางในพื้นที่ดังกล่าวจริง โดยลักษณะเป็นบ้านพักอาศัยด้านในเปิดทำเป็นโรงงานผลิตและส่งขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลากหลายยี่ห้อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงรวบรวมพยานหลักฐานขอศาลจังหวัดชุมแพ เพื่อขออนุมัติหมายค้น
ต่อมาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้น เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ผลิตและจัดเก็บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางดังกล่าว พบ น.ส.จรรยา(สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ดังกล่าว โดยขณะเข้าทำการตรวจค้นยังพบการลักลอบผลิตเครื่องสำอางอยู่ด้วยการ กวนครีม และบรรจุลงตลับเพื่อรอการส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ อีกทั้งภายในบ้านดังกล่าว ยังพบเครื่องจักร เช่น เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก, เครื่องหุ้มพลาสติก, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต, และเครื่องอบลมร้อน ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าสถานที่ผลิตดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตผลิตเครื่องสำอาง ตรวจยึดและอายัดของกลาง ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมโสมขมิ้นดำ ยี่ห้อ เฌอริต้า จำนวน 17,600 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง บียอนด์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 13,200 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง SAKU Ginseng Cream จำนวน 1,440 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ฮา-ยัง เซรั่ม จำนวน 400 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง พิงค์ โกลด์ มาส์ก จำนวน 1,260 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum Brownychu จำนวน 1,200 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Super Serum เซรั่ม ลดฝ้า กะ รอยเหี่ยวย่น จำนวน 5,000 ซอง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง PURE Skincare สกินบูสเตอร์ โกลด์ เซรั่ม จำนวน 38 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Brownychu BC Super White Cream จำนวน 300 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง Pure เซรั่ม จำนวน 2,000 ขวด
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง P aura By Sangarun จำนวน 9 กล่อง
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง(ตลับสีทอง) จำนวน 1,200 ตลับ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ออร่าไนท์ ไวท์เทนนิ่ง(ตลับสีเทา) จำนวน 1,500 ตลับ
- ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางคละสีบรรจุในถึงพลาสติก จำนวน 200 กิโลกรัม
- เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต เช่น เครื่องปั๊มสกรีนฉลาก, เครื่องหุ้มพลาสติก, เครื่องซีลกล่องผลิตภัณฑ์, เครื่องยิงเลเซอร์ วัน เดือน ปี ที่ผลิต, และเครื่องอบลมร้อน วัสดุอุปกรณ์ และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต รวมทั้งฉลาก และบรรจุภัณฑ์อื่นๆ หลายรายการ
รวมตรวจยึดของกลางจำนวน 38 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ.ดำเนินคดี
จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่าสถานที่ผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดให้ผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด โดยจะลักลอบผลิต และส่งสินค้าให้ลูกค้าตามออเดอร์ ในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้เข้ามารับเอง หรือจัดส่งให้ตามที่ลูกค้าแจ้ง โดยทำมาแล้วประมาณ 1 ปี โดยผู้ผลิตรับว่าไม่มีความรู้ด้านเคมี หรือการผลิตเครื่องสำอางแต่อย่างใด
อนึ่งจากการตรวจสอบ ผลิตภัณฑ์ทั้ง 13 ยี่ห้อ มีเลขจดแจ้งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้ผลิตถูกต้องและมีขายตามท้องตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดในครั้งนี้ ถูกผลิตในสถานที่ ที่ไม่ได้รับอนุญาตตามที่ขออนุญาตไว้ และไม่ได้มาตรฐาน จึงเข้าข่ายเป็นการผลิตเครื่องสำอางปลอม ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยว่าปลอมทั้งหมด อยู่ระหว่างติดต่อให้ บริษัท เจ้าของผลิตภัณฑ์ตรวจสอบและยืนยันเพิ่มเติม
โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึด พนักงานสอบสวนจะส่งผลิตภัณฑ์ตรวจพิสูจน์กับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หากพบวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง จะเป็นความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง ฐาน “ผลิตและขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้” ผู้ผลิตระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ขายระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ