นราธิวาส -ปัตตานี เตือนน้ำบางนรา ลุ่มน้ำตาปีล้นตลิ่ง ย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ยังมีน้ำท่วมภาคใต้ 3 จังหวัด สงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำปัตตานี ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตลอดแนวริมคลองยกของขึ้นที่สูง และเตรียมการอพยพหากระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่ง
สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) ยังมีน้ำท่วมภาคใต้ 3 จังหวัด สงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ ส่วนสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางนรา และลุ่มน้ำปัตตานี ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตลอดแนวริมคลองยกของขึ้นที่สูง และเตรียมการอพยพหากระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่ง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) รายงานว่า ยังมีน้ำท่วมภาคใต้ 3 จังหวัด สงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง รวม 5 อำเภอ 33 ตำบล 167 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,749 ครัวเรือน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัยเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมดูแลให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ จังหวัดสงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอระโนด รวม 4 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 193 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด และ อ.เฉลิมพระเกียรติ รวม 15 ตำบล 54 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 856 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงและจังหวัดพัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ และ อ.ควนขนุน รวม 14 ตำบล 99 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,700 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
โครงการชลประทานนราธิวาส ได้แจ้งสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางนรา ฉบับที่ 3 (ล้นตลิ่ง) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 โดยแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัย อยู่ริมคลองตันหยงมัส บริเวณบ้านตันหยงมัส บ้านไท บ้านแกแม ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ บ้านมะนังกาหยี ตำบลมะนังตายอตำบลลำภู ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และบ้านทุ่งคา บ้านโต๊ะแม บ้านปูตะตำบลละหาร อำเภอยี่งอ รับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่ง ทั้งนี้ ขอให้ขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของสัตว์เลี้ยงขึ้นในที่ปลอดภัยขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
ส่วนโครงการชลประทานปัตตานี แจ้งเตือนภัยลุ่มน้ำปัตตานี ฉบับที่ 3 (เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด) โดยได้แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านบลีดอ บ้านจางา ตำบลปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี และพื้นที่ริมคลองตุยง บ้านโคกยาร่วง บ้านปะกาลิสง ต.ลิปะสะโง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ และติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ ต.ลางา อ.มายอ จ.ปัตตานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ เนื่องจากมีฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง โดยผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ฝนตกหนักต่อเนื่อง 2-3 วันทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ อย่างไรก็ตามเป็นปริมาณน้ำที่รอการระบาย ซึ่งบางจุดถ้าฝนไม่ตกเพิ่มเติมไม่เกิน 2 ชั่วโมง น้ำจะแห้ง จึงได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำ อย่างเช่นที่ อ.สายบุรี ตอนนี้น้ำเริ่มลดลงเกือบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว และขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์พยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ด้านนายศุภโยค ลอดิง นายกเทศมนตรีตำบลบูเก๊ะตา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ขณะนี้ที่คลองบูเก๊ะตาได้ปักธงแดงแล้ว เนื่องจากระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนปริ่มตลิ่ง พร้อมกันนี้ได้ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงตลอดแนวริมคลองบูเก๊ะตายกของขึ้นที่สูง และเตรียมการอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยหากระดับน้ำเริ่มล้นตลิ่ง
และกล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ในขณะนี้ ถือว่ายังไม่เข้าสู่ภาวะวิกฤติ เนื่องจากแม่น้ำโก-ลกในเขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลกที่เป็นพื้นที่กลางน้ำระดับน้ำยังไม่ล้นตลิ่งจึงยังมีพื้นที่รับน้ำอีกมาก ดังนั้นลักษณะน้ำท่วมสูงมาเร็วไปเร็วจึงยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่เพื่อความไม่ประมาทได้จัดเจ้าหน้าที่พร้อมวัสดุอุปกรณ์สำหรับการช่วยเหลือและอพยพประชาชนไว้แล้ว และพร้อมลงพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่สำนักงานชลประทานที่ 17 ในบ่ายวันนี้ (26 พฤศจิกายน 2567) นายมาโนช โภชนสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน ชป.17 พร้อมด้วย ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล หัวหน้าฝ่ายจัดการความปลอดภัยเขื่อนและอาคารชลประทาน และหัวหน้าฝ่ายบริหารจัดการน้ำ สำนักงานชลประทานที่ 17 เข้าร่วมประชุมการขับเคลื่อนการดำเนินงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยภาคใต้ เพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้หลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม
เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยสำนักงานชลประทานที่ 17 มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือ จำนวน 132 หน่วย เตรียมความพร้อมอาคารชลประทาน 131 แห่ง งานกำจัดวัชพืช 17 แห่ง และติดตั้งเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จำนวน 22 แห่ง (ผล 8 แห่ง เดินเครื่อง 1 เครื่อง stand by 13 เครื่อง) ในเขตพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี