ขยายวงเงินช่วย 6 จังหวัดน้ำท่วมใต้ จังหวัดละ 50 ล.บาท เปิดศูนย์พักพิง จุดอพยพ
กรมบัญชีกลาง ขยายวงเงินทดรองราชการให้ 6 จังหวัดน้ำท่วมใต้ จังหวัดละ 50 ล้านบาท อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว จุดอพยพ 200 แห่ง ประชาชนอพยพหนีน้ำท่วมเข้าพัก 13,029 คน กระทบคนใต้ 553,921 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 9 ราย
ปภ. เผยกรมบัญชีกลาง ขยายวงเงินทดรองราชการให้ 6 จังหวัดน้ำท่วมใต้ จังหวัดละ 50 ล้านบาท อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว จุดอพยพ 200 แห่ง ประชาชนอพยพหนีน้ำท่วมเข้าพัก 13,029 คน กระทบคนใต้ 553,921 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 9 ราย
วันนี้ 30 พฤศจิกายน 2567 เวลา 09.30 น. นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้มี 8 จังหวัดได้รับผลกระทบ (ข้อมูล 30 พ.ย.67 เวลา 06.00 น.)ได้แก่
- นครศรีธรรมราช
- พัทลุง
- ตรัง
- สตูล
- สงขลา
- ปัตตานี
- ยะลา
- นราธิวาส
รวม 78 อำเภอ 515 ตำบล 3,552 หมู่บ้าน พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบ 553,921 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 9 ราย ทุกหน่วยงานได้เข้าให้การช่วยเหลือประสบภัยอย่างเร่งด่วน
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยศูนย์ ปภ. เขต 12 สงขลา ร่วมกับสำนักงาน ปภ.จังหวัดที่ประสบภัยได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยทั้งรถขนย้ายผู้ประสบภัยยกสูง เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์ รถประกอบอาหาร เครื่องสูบน้ำ
รถบรรทุกติดตั้งเครื่องสูบน้ำระยะไกล รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกน้ำ เรือท้องแบน เครื่องยนต์เรือพร้อมอุปกรณ์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า รวม 486 หน่วย เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชน
โดยทีม ปภ.ขณะนี้ได้กระจายกำลังดูแลประชาชนในจังหวัดสตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นการเร่งด่วน
"เพื่อเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ ปภ.ให้สามารถดูแลผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ตนได้สั่งระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยพร้อมเจ้าหน้าที่จากศูนย์ ปภ.เขต 9 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ ปภ. เขต 2 สุพรรณบุรี เขต 3 ปราจีนบุรี เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 16 ชัยนาท เขต 17 จันทบุรี และเขต 18 ภูเก็ต
รวมเครื่องจักรกลสาธารณภัยที่สนับสนุนเพิ่มเติมลงไปช่วยภาคใต้ ทั้งเรือท้องแบน รถขนย้ายผู้ประสบภัย เครื่องสูบน้ำ รวมอีก 169 รายการ เจ้าหน้าที่ 67 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 28 พ.ย. 67 เวลา 18.00 น.) ซึ่งทีมเสริมของ ปภ. ขณะนี้ได้เริ่มเข้าทำงานในพื้นที่แล้ว ” อธิบดี ปภ. นายภาสกร กล่าว
นายภาสกร กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลพี่น้องชาวใต้ที่ประสบอุทกภัย ปภ. ศูนย์ ปภ.เขต สำนักงาน ปภ.จังหวัด พร้อมด้วยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำกำลังเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยอุปกรณ์เครื่องมือลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มกำลัง
4 จังหวัด เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราว - จุดอพยพ รวม 200 แห่ง
ขณะนี้ 4 จังหวัดได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวและจุดอพยพ รวม 200 แห่ง โดยที่นราธิวาส 79 แห่ง สงขลา 16 แห่ง ยะลา 43 แห่ง และปัตตานี 62 แห่ง และได้เปิด "ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก" จำนวน 2 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาสและปัตตานี
ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ ปภ.ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีความพร้อมด้านความเป็นอยู่ อาหาร และมีเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอ คอยดูแลด้านสุขภาพอนามัย รวมขณะนี้มีประชาชนได้อพยพมาเข้าพักที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวทั้งหมดจำนวน 13,029 คน (ข้อมูลวันที่ 29 พ.ย.67)
นอกจากนี้ ปภ.ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่จัดอาหารปรุงสุกแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยแล้ว 148,896 กล่อง น้ำดื่มสะอาด 99,399 ขวด และถุงยังชีพ 46,316 ชุด
รวมถึงได้สนับสนุนรถประกอบอาหารของ ปภ. ร่วมประกอบอาหารแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม รวม 10 จุด ที่ปัตตานี 1 จุด ยะลา 4 จุด สงขลา 2 จุด และนราธิวาส 3 จุด ซึ่ง ปภ. จะได้ร่วมกับทุกหน่วยงานดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีจังหวัดที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย และประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) แล้ว จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่
- นครศรีธรรมราช
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- พัทลุง
- ยะลา
- สงขลา
รวม 51 อำเภอ 346 ตำบล 2,163 หมู่บ้าน/ชุมชน
กรมบัญชีกลาง ขยายวงเงินทดรองราชการให้ 6 จังหวัดภาคใต้น้ำท่วม
วานนี้ 29 พ.ย. 67 กรมบัญชีกลางได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการให้กับ 6 จังหวัดภาคใต้ที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) ได้แก่
- สงขลา
- นราธิวาส
- ปัตตานี
- ยะลา
- สุราษฎร์ธานี
- นครศรีธรรมราช
เพิ่มเติมแล้วจังหวัดละ 50 ล้านบาท จาก 20 ล้านบาท รวมเป็น 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับใช้ในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย และให้การปฏิบัติภารกิจดูแลพี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์
โดย ปภ.ได้กำชับให้จังหวัดที่ได้รับการขยายวงเงินทดรองราชการฯ ใช้จ่ายงบประมาณโดยยึดระเบียบกระทรวงการคลังฯ เป็นหลัก มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้า ให้การช่วยเหลือสอดคล้องและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ประสบภัย