วช.หนุนโครงการ 'วงปล่อยแก่' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

วช.หนุนโครงการ 'วงปล่อยแก่' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

วช.หนุนโครงการ "วงปล่อยแก่" ส่งเสริมวัยเกษียณ สนุนการดูแลตนเอง ช่วยลดความเครียด ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ที่ปรึกษารมว.อว.หนุนขยายผลจาก 12 จังหวัด ให้มีทั่วประเทศ อินโดนีเซียเชิญร่วมแข่งขันร้องเพลงประสานเสียงเวทีนานาชาติ

พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ได้มีโอกาสชมการแสดงของ"วงปล่อยแก่" ที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย จังหวัดนครราชสีมา จัดโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ทำให้ได้เห็นความสามารถของผู้สูงอายุ ขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ฉะนั้นน่าจะมีกิจกรรมอย่างวงปล่อยแก่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และควรจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. กล่าวถึงผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่าผู้สูงอายุที่เข้าร่วม "โครงการวงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง” ของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ที่วช.สนับสนุนว่า มีระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่าโครงการวงปล่อยแก่ มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังส่งผลเกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรีฯ และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ กล่าวถึงที่มาของวงปล่อยแก่ว่า ก่อตั้งมาเมื่อปี 2562 สนับสนุนโดยมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อมาได้รับทุนวิจัยจาก วช.

วัตถุประสงค์สำคัญของวงปล่อยแก่ คือให้ทุกคนมีความสุข ปัจจุบันจัดตั้งวงปล่อยแก่ได้ 13 วง จาก 12 จังหวัด มีสมาชิก 1,400 กว่าคน อายุมากสุด 85 ปี และเป้าหมายของการจัดตั้งวงปล่อยแก่เพื่อเตือนสติหน่วยงานรัฐให้ทำสิ่งดีๆ อย่าลืมหรือละเลยคนแก่ เนื่องจากกิจกรรมร้องเพลงมีผลดีต่อสภาพร่างกาย และจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุปลดปล่อยพลังภายในที่มีอยู่  

เหนือสิ่งอื่นใดมาร้องเพลงแล้วเกิดความสุขมากมายมหาศาล กลับมาเป็นหนุ่มเป็นสาวอีกครั้ง บางคนลืม หรือหายจากโรคที่เป็นอยู่ก็มี มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เห็นคุณค่าของตนเอง และส่งผลให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมไทยอย่างมาก

วช.หนุนโครงการ \'วงปล่อยแก่\' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

รศ.ดร.สุกรี กล่าวอีกว่า ในเดือนสิงหาคมปีนี้ วงปล่อยแก่ประเทศไทยได้รับเชิญจากประเทศอินโดนีเซียให้ไปร่วมแข่งขัน ขับร้องเพลงประสานเสียงนานาชาติ ครั้งที่ 14 ที่เกาะบาหลี

ณ เวลานี้ถือว่าวงปล่อยแก่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง แม้จะได้รับรางวัลหรือไม่ก็ตาม เพราะวงปล่อยแก่ไม่ได้ต้องการชัยชนะหรือถ้วยรางวัลใดๆ เนื่องจากผู้สูงอายุต่างเคยผ่านจุดเหล่านั้นมาแล้ว วัตถุประสงค์ที่ไปแข่งขันระดับนานาชาติเพียงอยากสร้างความน่าเชื่อถือให้กับวง และทำให้สมาชิกวงปล่อยแก่มีความสุขเท่านั้น

“ขณะนี้คัดเลือกสมาชิกวงปล่อยแก่ที่สมัครเข้ามาร้อยกว่าคนให้เหลือ 31 คนเรียบร้อยแล้ว เพื่อไปแข่งขันร้องเพลงประสานเสียงที่ประเทศอินโดนีเซีย เน้นผู้สูงวัยที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว ช่วยเหลือตัวเองได้ และร้องเพลงไพเราะระดับหนึ่ง เนื่องจากทุกคนเพิ่งมาหัดร้องเพลงตอนอายุมาก ไม่เหมือนนักร้องอาชีพที่เรียนและหัดร้องเพลงตั้งแต่อายุยังน้อย” รศ.ดร.สุกรี กล่าว

นางสุพินดา มโนมัยพิบูลย์  ผู้จัดการมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า ในการจัดกิจกรรมประลองยอดฝีมือเยาวชนดนตรี ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2568  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก วช. วงปล่อยแก่จากจังหวัดต่างๆ ก็ร่วมแสดงด้วย ทั้งที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมายและที่ปราสาทเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์ ในวันที่ 23 มกราคมที่จะถึงนี้ โดยก่อนขึ้นเวทีจะมีการซ้อมก่อนทุกครั้ง 

ทั้งนี้ วงปล่อยแก่เปิดโอกาสให้คนอายุ 50 ปีขึ้นไป มาสมัครเป็นสมาชิก สำหรับวงต้นแบบคือ วงปล่อยแก่ที่อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเพราะเป็นการรวมตัวของผู้สูงอายุทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการเกษียณอายุ แม่บ้าน ชาวบ้าน และเกษตรกร ฯ จากนั้นขยายไปยังจังหวัดต่าง ๆอาทิ ยะลา ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย อุดรธานี บุรีรัมย์ นครสวรรค์ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร

วช.หนุนโครงการ \'วงปล่อยแก่\' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

ในช่วงแรกทางมูลนิธิฯเริ่มจาก "โครงการดนตรีพลังบวกวงปล่อยแก่" ที่สนับสนุนโดยมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ ต่อมาเป็น "โครงการวงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง" ภายใต้การสนับสนุนของวช.

นับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ จนถึงปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 3 แล้ว เมื่อผลงานวิจัยออกมาจะได้ทั้งในรูปแบบของต้นแบบ และคู่มือนวัตกรรมต่างๆ ที่จะช่วยหนุนเสริมให้กับวงปล่อยแก่น้องใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้นำไปใช้

 เราใช้ดนตรีในการเชื่อมโยงคนเข้ามาด้วยกันอย่างแท้จริง ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายอาชีพ หลากหลายระดับ การทำวงปล่อยแก่ เป็นการทลายกำแพง โดยใช้เพลงเป็นสื่อกลาง จะเห็นได้ว่า ทั้งชาวบ้าน ข้าราชการ พ่อค้า แม่ค้า คนเหล่านี้สามารถมารวมตัวกันได้  อาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นการร้องประสานเสียง ก็เพราะสามารถจูนคนเข้ามาร่วมทำกิจกรรมร่วมกันได้ง่าย เมื่อปีที่แล้วในงานมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย วงปล่อยแก่ของไทย ก็ได้รับรางวัลเหรียญเงิน 

 ผู้จัดการมูลนิธิฯ กล่าวอีกว่า นอกจากจัดตั้งวงปล่อยแก่ตามจังหวัดต่างๆ ที่มีความพร้อม และส่งครูไปสอนแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังผลักดันให้ผู้สูงวัยได้มีพื้นที่ในการแสดง ที่สำคัญกลุ่มผู้สูงอายุเหล่านี้ยังเป็นตัวอย่างเป็นโมเดลให้กับผู้สูงอายุกลุ่มอื่น ๆ ได้เห็นถึงความมีชีวิตชีวา พลังวังชาที่เกษียณไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องรอให้อายุโรยรา

วช.หนุนโครงการ \'วงปล่อยแก่\' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

ด้านนายอัทธ์ เสมาพงศ์ อายุ 62 ปี หัวหน้าวงปล่อยแก่ วช. กล่าวว่า ที่ตั้งวงปล่อยแก่นี้ขึ้นมา เพื่อให้ผู้เกษียณได้มาพบเจอกัน ได้มาฝึกสมาธิ มาฝึกร้องเพลง มาฝึกสมองให้มีความจำ มีความสุขทางสุขภาพจิต ซึ่งที่ผ่านมาวงปล่อยแก่ ได้รับเกียรติให้ไปแสดงหลายที่ เช่น บุรีรัมย์ อยุธยา ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ และงานนักประดิษฐ์ของ วช.

“ถือว่าการตั้งวงปล่อยแก่เป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ และมีคุณค่ามาก อยากเชิญชวนผู้ที่ยังไม่เกษียณ หรือใกล้ ๆ เกษียณ หรือเกษียณแล้วให้ลองมาร่วมวงปล่อยแก่ รับรองจะได้อะไรหลาย ๆอย่างแน่นอน ผมเองยังได้สมัครเข้าร่วมแข่งขันในการร้องเพลงประสานเสียงระดับนานาชาติที่อินโดนีเซียด้วย และผ่านการคัดเลือกในจำนวนทั้งหมด 31 คน จากสมาชิกวงปล่อยแก่ที่สมัครมา 100 กว่าคน หลังจากเดือนมกราคมเป็นต้นไปจะมีการซ้อม ต้องฟิตร่างกายให้พร้อม ผมเองออกกำลังกายเป็นประจำอยู่แล้ว”

วช.หนุนโครงการ \'วงปล่อยแก่\' ส่งเสริม สร้างเครือข่ายวัยเกษียณ

ทางด้านนางบรรจง ศรีทองแท้ วัย 74 ปี สมาชิกวงปล่อยแก่ วช. อีกคน ที่ผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมแข่งขันร้องประสานเสียงเวทีนานาชาติที่ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวว่า ตอนแรกไม่คิดว่าจะผ่านการคัดเลือก รู้สึกดีใจมาก และได้ถามลูก ๆ ต่างบอกให้ไปเปิดประสบการณ์  ซึ่งตนเองเข้าร่วมวงปล่อยแก่ของ วช.มา 2 ปี มีความสุขมาก เพราะเป็นคนชอบร้องเพลงอยู่แล้ว

ที่ผ่านมาอยู่แต่บ้านไม่ได้ไปไหน พอมาอยู่วงปล่อยแก่ เหมือนได้เติมเต็มชีวิต ได้ไปรวมกลุ่มพบปะกับเพื่อนๆ ทำให้หายเหงา และมีกิจกรรมที่ชอบ ควรขยายวงปล่อยแก่ไปตามจังหวัดต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพราะมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่เหงาเพราะอยู่แต่ในบ้าน ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอะไรข้างนอก