คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พ.ย.2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการประกาศจัดการชุมนุมครั้งสุดท้ายของนายสนธิว่า

“เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบ เราอาจไม่อยากไป ซึ่งจะกระทบกับการท่องเที่ยว และประเทศอย่างแน่นอน” 

ส่วนกรณีอุบัติเหตุคานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ จากการรายงานของสื่อ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เพียงว่า “ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังจะเดินทางไปดูในพื้นที่”

จึงเป็นเรื่องที่น่าฉงนว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึง take action หรือให้สัมภาษณ์ถึงโศกนาฏกรรมคานยักษ์ถล่ม น้อยกว่าเรื่องม็อบของนายสนธิที่“ยังไม่ทันเกิดขึ้น”  

ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ยังมิได้แสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนเอง มีเพียงสั่งตรวจสอบเหตุคานถล่ม เยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้าน และจะคุยกับกรมบัญชีกลาง เพื่อออกมาตรการคุมผู้รับเหมา

นอกจากนี้ จากสกู๊ปข่าวของเดลินิวส์ พบว่า อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 34 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย สร้างตำนานทำป้ายอธิบดีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในวันที่คานถล่มถนนพระราม 2 มีผู้เสียชีวิต 6 ราย

ทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาของบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ ต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของตน ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น 

อาทิ วันเดียวกันนี้ Louise Haigh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (Secretary of State for Transport) ของสหราชอาณาจักรประกาศลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ในปี 2556 ที่เธอเคยให้การกับตำรวจว่าโทรศัพท์หายไป แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น

  ซึ่งกรณีความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักร ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อเช้าตรู่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยวันนี้ 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประเทศเซอร์เบีย ภายหลังเหตุการณ์หลังคาคอนกรีตของสถานีรถไฟเมือง Novi Sad ที่พึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย Goran Vesic

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (Minister of construction, transport and infrastructure) และ Tomislav Momirović รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า (Minister of internal and foreign trade) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในช่วงที่มีการปรับปรุงสถานีรถไฟดังกล่าว  ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง 

เชื่อกันว่า โศกนาฏกรรมหลังคาคอนกรีตถล่มมีต้นเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชนที่รับเหมาปรับปรุงอาคารฯ

นั่นคือ ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่ไม่ชัดเจนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เอื้อประโยชน์มหาศาลแก่ผู้รับเหมาเพียงไม่กี่ราย แต่ต้องแลกมาด้วยความไม่ปลอดภัยของประชาชน

ชาวเซอร์เบียจำนวนมากให้สโลแกนเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้ว่า “corruption kills” นั่นคือ ความตายของประชาชนเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน เบื้องต้นมีผู้ถูกควบคุมตัว 11 คน รวมทั้ง Vesic อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่พึ่งลาออกตำแหน่ง ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดทางอาญาต่อความปลอดภัยของสาธารณะ

เซอร์เบียเป็นประเทศที่มีการแพร่หลายของการทุจริตคอร์รัปชันใกล้เคียงกับประเทศไทย การจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุด โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่า ปี 2566 เซอร์เบียและไทยอยู่ลำดับที่ 104 และ 108 จากจำนวน 177 ประเทศ

ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เดนมาร์ก เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกลำดับที่ 1, 9, 20 และ 24 ตามลำดับ

เป็นที่น่าสนใจว่า ประเทศเหล่านี้ เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ ไม่ค่อยปรากฏเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยของประชาชนจากการก่อสร้างที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ

อย่างไรก็ดี เซอร์เบียมีแนวโน้มที่จะมีโศกนาฏกรรมจากการก่อสร้างที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐน้อยลง เพราะนอกจากจะมีการควบคุมตัวอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงทีแล้ว

ประธานาธิบดี Aleksandar Vucic ผู้นำประเทศ ยังให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า โศกนาฏกรรมหลังคาสถานีรถไฟถล่มครั้งนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ และกล่าวว่า “15 people did not die because of their own fault, but because someone didn’t do their job properly.” หมายความว่า “ผู้บริสุทธิ์ 15 ชีวิต ต้องจบชีวิตจากคนที่ไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสม” 

 สำหรับประเทศไทย แม้ปรากฏเหตุการณ์เครน/คานถล่มระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับ หรือรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย และความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่ก็หามีสักครั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ อันเกิดจากการละเลยเอาใจใส่ตามอำนาจหน้าที่ แม้เพียงการลาออกดังเช่นนานาอารยประเทศ

นอกจากนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับม็อบของนายสนธิ ซึ่งเป็น“เรื่องในอนาคต ยังไม่มีความชัดเจน” ว่าจะกระทบประเทศ แต่ให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยกับเหตุการณ์คานถล่มที่มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตาย

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับท่าทีผู้นำประเทศอื่นในเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความกังขาว่า ผู้บริหารประเทศเป็นห่วงการดำรงคงอยู่ของตำแหน่ง และความอยู่รอดของรัฐบาล มากกว่าชีวิตและความปลอดภัยของประชาชน...หรือไม่!?