จับตาฝนระลอกใหม่ ภาคใต้ กลางเดือน ธ.ค. เล็งยกระดับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ
คณะอนุฯ อำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมถกสถานการณ์น้ำภาคใต้ จับตาฝนระลอกใหม่กลางเดือน ธ.ค. เล็งยกระดับศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ โดยเพิ่มองค์ประกอบใน คอส.
วันนี้ (4 ธ.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2567 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กองทัพเรือ และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ศาสตราจารย์นุชนารถ ศรีวงศิตานนท์ รองศาสตราจารย์สายสุนีย์ พุทธาคุณเจริญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิตางศุ์ พิลัยหล้า นายคุณากร ปรีชาชนะชัย นายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ และนายชยันต์ ศิริมาศ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมน้ำปิง ชั้น 4 อาคารจุฑามาศ และประชุมผ่านระบบออนไลน์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ
ผลการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยภาพรวมผลการดำเนินการเป็นไปตามที่มาตรการกำหนด ซึ่งจะมีการถอดบทเรียนจากการดำเนินการมาตรการฯ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในปีถัดไป โดยอนุกรรมการฯ ได้เสนอความเห็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในหลายประเด็น ได้แก่ การสนับสนุนกลไกคณะกรรมการลุ่มน้ำให้ได้มีส่วนร่วมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควรกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินการโดยใช้ประชาชนและผู้รับผลกระทบเป็นตัวตั้ง การสร้างเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจของระดับนโยบายที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจัดทำแผนที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีระดับน้ำท่วมสูงสุดในอดีตและจุดน้ำท่วมซ้ำซาก เครื่องมือคาดการณ์ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 ประกอบด้วย แผนและผลการจัดสรรน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ปัจจุบันมีผลการจัดสรรน้ำรวม 2,197 ล้าน ลบ.ม. เป็นไปตามแผน (21,627 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งพบว่าส่วนใหญ่เป็นไปตามแผน จึงได้กำชับให้หน่วยงานติดตามในพื้นที่ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และขอให้มีการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งในระยะใกล้นี้ คือ ช่วงเดือน ธ.ค. - ม.ค. พร้อมแผนการลงพื้นที่เพื่อหาแนวทางให้ความช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ในการประชุมครั้งถัดไปด้วย
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้วันนี้ พบว่า ภาพรวมสถานการณ์คลี่คลายลง โดยมีสถานการณ์แต่ละลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ปริมาณฝนสูงสุด 12 มิลลิเมตร ระดับน้ำในแม่น้ำต่ำกว่าตลิ่งในช่วง 2.2 - 8.2 เมตร ลุ่มน้ำภาคใต้ตอนบน ปริมาณฝนสูงสุด 31 มิลลิเมตร ระดับน้ำที่ต้องเฝ้าระวังที่คลองท่าดี วันนี้ต่ำกว่าตลิ่ง 1.38 เมตร แต่คาดการณ์ว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นใน 7 วันข้างหน้า และที่ลุ่มน้ำภาคใต้ตอนล่าง ปริมาณฝนสูงสุด 56 มิลลิเมตร ระดับน้ำในพื้นที่ลดลงโดยส่วนใหญ่ต่ำกว่าตลิ่ง แต่ยังเฝ้าระวังพื้นที่ริมแม่น้ำปัตตานี ที่บางจุดน้ำสูงกว่าตลิ่ง 1.15 เมตร และคาดการณ์ว่าน้ำจะเพิ่มสูงกว่าตลิ่ง 1.22 เมตร ในช่วงสองวันนี้ สำหรับปริมาณน้ำเขื่อนบางลาง ได้คาดการณ์ 14 วันล่วงหน้าพบว่า จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 322 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีอัตราการระบายอยู่ที่ 16 ล้าน ลบ.ม./วัน หากคงไว้ที่อัตราเดิมมีแนวโน้มน้ำจะเกินเกณฑ์ระดับน้ำควบคุมสูงสุดในวันที่ 15 ธ.ค. 67 รวมถึงมีการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนบริเวณปากน้ำปัตตานีจะไม่หนุนสูงในช่วงวันที่ 2-9 ธ.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงที่ดีในการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเล
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ในภาคใต้หลายพื้นที่จะเริ่มคลี่คลาย แต่จากการคาดการณ์ในหลายๆเรื่อง เรายังคงต้องจับตาสถานการณ์ช่วงกลางเดือน ธ.ค. เป็นต้นไป เพราะคาดว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้อีกครั้ง และมีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ดินถล่มไว้แล้ว ที่ประชุมจึงได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางบริหารจัดการน้ำและการเตรียมการรับมือในช่วงถัดไป ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง โดยให้ กฟผ. นำผลการคาดการณ์ฝนที่จะมาเพิ่มประกอบกับการคาดการณ์น้ำทะเลหนุน เสนอคณะกรรมการลุ่มน้ำ พิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนบางลางเป็น 18 ล้าน ลบ.ม./วัน โดยต้องไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำ และการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับปริมาณฝนที่จะตกมาเพิ่ม การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำที่เกินเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำสูงสุดหรือปริมาณน้ำมากกว่า 100% การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานต่าง ๆ ในการเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ การช่วยเหลือแก้ไข และจัดทำระบบทะเบียนผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงเพื่ออำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการ เพื่อรองรับสถานการณ์ด้วย
“จากสถานการณ์ฝนภาคใต้ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คณะอนุกรรมการฯ จึงได้พิจารณาให้ยกระดับหน่วยบริหารจัดการน้ำให้เป็นศูนย์บัญชาการเฉพาะกิจ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้ เนื่องจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้มีระดับความรุนแรงที่ระดับ 3 อยู่ในเกณฑ์สถานการณ์วิกฤติ แต่เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) ซึ่งได้บริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยภาคใต้อยู่แล้วในขณะนี้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการของศูนย์ฯ มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น สะดวกคล่องตัว และไม่ซ้ำซ้อน คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นชอบให้เสนอประธาน กนช. คือ รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเพิ่มองค์ประกอบของ คอส. ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานระดับกรม จำนวน 2 หน่วยงานประกอบด้วย กรมทรัพยากรน้ำ และกรมประชาสัมพันธ์ และเห็นควรมีผู้ทรงคุณวุฒิประจำคณะกรรมการไม่น้อยกว่า 4 ท่าน พร้อมทั้งเพิ่มอำนาจและหน้าที่ในการจัดตั้งศูนย์บัญชาการส่วนหน้า เพื่อดูแล ควบคุม การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่วิกฤติ และบูรณาการการปฏิบัติงานในการอำนวยการการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัย และสั่งการหรือดำเนินการ แก้ไขสถานการณ์อุทกภัยให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย