สทนช. เร่งป้องกันภัยแล้ง บางพื้นที่ 29 จว. เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ช่วง ม.ค.-ก.พ. 68

สทนช. เร่งป้องกันภัยแล้ง บางพื้นที่ 29 จว. เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ช่วง ม.ค.-ก.พ. 68

สทนช. เร่งป้องกันพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งเชิงรุกทั่วประเทศ หลังประเมิน 29 จังหวัด พื้นที่บางส่วนเสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 68

วันนี้ (25 ธ.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่ของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อติดตามการบริหารจัดน้ำและพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ในพื้นที่เขตตรวจราชการที่ 13 (จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) โดยได้สั่งการให้ สทนช. บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 เพื่อรับมือความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในเชิงป้องกัน ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจและคลายความวิตกกังวลให้กับประชาชน

ทั้งนี้ สทนช. ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.68 ทั่วประเทศพบว่า มีพื้นที่เสี่ยงในบางส่วนของ 131 ตำบล 83 อำเภอ 29 จังหวัด แบ่งเป็น

  • พื้นที่ภาคเหนือ 26 ตำบล 15 อำเภอ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง พะเยา เชียงใหม่ กำแพงเพชร น่าน และพิษณุโลก
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 73 ตำบล 46 อำเภอ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ยโสธร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ นครพนม สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี
  • ภาคกลาง 9 ตำบล 7 อำเภอ 4 จังหวัด ได้แก่ จ.ลพบุรี สระบุรี ชัยนาท และนครสวรรค์
  • ภาคตะวันตก 7 ตำบล 3 อำเภอ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี
  • ภาคตะวันออก 11 ตำบล 8 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ฉะเชิงเทรา และชลบุรี
  • ภาคใต้ 5 ตำบล 4 อำเภอ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง และสตูล

เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ ยังต้องจับตาเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการคาดการณ์ปริมาณฝนของประเทศไทยโดยเทคโนโลยีฝน One Map พบว่า ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.67-ม.ค.68 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น

โดยเฉพาะบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แต่ในขณะเดียวกัน พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว

ประกอบกับการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำทั้ง 29 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ต้องเร่งป้องกันพื้นที่ดังกล่าวเป็นการล่วงหน้า ซึ่งเป็นการทำงานในเชิงรุกที่รองนายกรัฐมนตรี (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) ได้กำชับให้ สทนช. และหน่วยงานต่างๆ ลงพื้นที่สำรวจและรับทราบปัญหาด้านน้ำในพื้นที่จริง โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อนำไปสู่กระบวนการวางแผนการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน พ.ย.-ธ.ค. 67 สทนช. ได้ลงพื้นที่เตรียมรับมือภัยแล้งไปแล้ว 5 จังหวัด 9 อำเภอ 15 ตำบล ได้แก่

  1. จ.นครราชสีมา 3 ตำบล 3 อำเภอ (ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว, ต.โคกกระชาย อ.ครบุรี และ ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ)
  2. จ.สมุทรปราการ 6 ตำบล 1 อำเภอ (ต.บางกระเจ้า ต.บางกอบัว ต.บางน้ำผึ้ง ต.บางยอ ต.บางกระสอบ ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง)
  3. จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 อ่างเก็บน้ำ 3 ตำบล 3 อำเภอ (อ่างเก็บน้ำช้างแรก ต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย, อ่างเก็บน้ำคลองช่องลม ต.เขาล้าน อ.ทับสะแก, และอ่างเก็บน้ำคลองบึง ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์)
  4. จ.สระบุรี 2 ตำบล 1 อำเภอ (ต.พุคำจาน และ ต.ธารเกษม อ.พระพุทธบาท)
  5. จ.ลพบุรี 2 ตำบล 1 อำเภอ (ต.ช่องสาลิกา และ ต.ดีลัง อ.พัฒนานิคม)
     

“โดยที่ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จในการบูรณาการวางแผนป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทั้งจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค และ สทนช. ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยใช้วิธีสูบทอยด้วยเครื่องสูบน้ำระยะไกล จำนวน 5 เครื่อง สูบน้ำจากแม่น้ำลำตะคองไปกักเก็บไว้ในแหล่งผลิตน้ำประปาของ 4 หมู่บ้าน ได้แก่ สระน้ำวัดพระพุทธบาทเขาพริก หมู่ 7 บ้านเขาพริก, สระซับมะค่างาม หมู่ 4 บ้านมะค่างาม, สระซับแห้ง หมู่ 2 บ้านซับศรีจันทร์ และสระประปา หมู่ 5 บ้านซับสวรรค์ โดยมีเป้าหมายในการสูบน้ำรวม 162,000 ลบ.ม. ในระยะเวลาดำเนินการ 73 วัน โดยเริ่มสูบน้ำเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สทนช. จะนำความสำเร็จดังกล่าวไปต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ โดยมีแผนการลงพื้นที่ภายใต้มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างต่อเนื่องไปตลอดจนถึงเดือน ม.ค.ปีหน้า เพื่อร่วมกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ สามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งให้เหลือน้อยที่สุด รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าจะมีน้ำอุปโภคบริโภคใช้อย่างเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้” เลขาธิการ สทนช. กล่าว