ย้ำ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยื่นขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท ถึง 15 ม.ค. 68

ย้ำ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยื่นขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท ถึง 15 ม.ค. 68

ศปช. แจ้งผู้ประสบภัย 16 จังหวัด เร่งยื่นขอรับเงินเยียวยาน้ำท่วม 9,000 บาท ได้ถึง 15 ม.ค. 68 คาดฝนส่งท้ายปี 27-28 ธ.ค. มาเร็ว-ไปเร็ว

วันนี้ (26 ธ.ค. 67) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศปช. รับทราบการเร่งรัดรับเงินเยียวยาน้ำท่วม จำนวน 9,000 บาท ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้ถึงมือประชาชนโดยเร็ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ส่งหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 16 จังหวัด เพื่อกำชับหน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์สื่อสารถึงประชาชนที่จะได้รับเงินเยียวยาสามารถลงทะเบียนได้ถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 เท่านั้น

“ศปช. เน้นย้ำ 16 จังหวัด ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ไม่ให้มีการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือซ้ำซ้อน โดยผู้ที่จะได้รับเงินจะต้องเข้าเงื่อนไข ดังนี้

อยู่ในพื้นที่ จ.ชัยนาท บุรีรัมย์ สมุทรสาคร และสิงห์บุรี ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 20 พ.ค. - 2 พ.ย. 67

และพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จ.กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ตรัง พัทลุง ยะลา สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี

ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในห้วงวันที่ 3 พ.ย. 67 เป็นต้นไปเท่านั้น และได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสองกรณี คือ

1.ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมไม่เกิน 7 วัน และมีทรัพย์สินเสียหาย

2.ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมเกิน 7 วัน ในกรณีที่ถูกน้ำท่วมหลายครั้งจะได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว”
 

รองโฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายเกือบทั้งหมด เหลือเพียง 1 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช (อ.ปากพนัง พระพรหม เฉลิมพระเกียรติ เชียรใหญ่ และชะอวด) โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ระดมกำลังติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
 
     ส่วนแนวโน้มฝนที่จะตกในพื้นที่ภาคใต้ วันที่ 27 – 28 ธ.ค. นี้  จะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง ในพื้นที่ จ.ชุมพร ระนอง  สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ส่วนในวันที่ 29 ธ.ค.ฝนจะตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส โดยฝนจะมาเร็วไปเร็ว ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านมา
 
“ขอให้ประชาชนในภาคใต้ตอนล่างยังคงต้องเฝ้าระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม” รองโฆษกฯ ศศิกานต์ กล่าว