จุดความร้อน ไทยพุ่ง 328 จุด พบในพื้นที่เกษตรมากสุด กัมพูชาแชมป์ ทะลุ 1,004 จุด
GISTDA เผย "จุดความร้อน" ไทยพุ่ง 328 จุด พื้นที่เกษตรมากสุด 138 จุด ขณะที่ "กัมพูชา" ขึ้นนำอันดับ 1 จุดความร้อนทะลุ 1,004 จุด อัปเดต ค่าฝุ่น PM2.5 ล่าสุด เขตหนองแขมสูงสุด เตือนระดับสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ
กระทรวง อว. โดย GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ระบบ VIIRS และจากข้อมูลดาวเทียมดวงอื่นๆ ของเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา พบว่า ประเทศไทยมีจุดความร้อนรวม 328 จุด
ทั้งนี้ ข้อมูลจากดาวเทียมระบุว่า จุดความร้อนที่เกิดขึ้นของประเทศไทยเกิดขึ้นในพื้นที่เกษตร 138 จุด , พื้นที่เขต สปก. 72 จุด , พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 70 จุด , พื้นที่ชุมชนและพื้นที่อื่นๆ 31 จุด , พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 13 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 4 จุด
โดย "จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด" คือ นครราชสีมา 24 จุด
ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบมากที่สุด ได้แก่
- กัมพูชา 1,004 จุด
- เวียดนาม 196 จุด
- พม่า 152 จุด
- ลาว 113 จุด
- มาเลเซีย 19 จุด
ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลปัจจุบัน ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงไฟป่า พื้นที่เผาไหม้ซ้ำซาก รวมถึงดาวน์โหลดข้อมูลย้อนหลังเพิ่มเติมได้ที่ https://disaster.gistda.or.th/fire
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานสถานการณ์ ฝุ่น PM 2.5 ประจำวันที่ 9 ม.ค. 68 เวลา 11:00 น.
ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ขอรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในกรุงเทพมหานคร ประจำวันที่ 9 มกราคม 2568 เวลา 11:00 น. โดยค่าเฉลี่ยของกรุงเทพมหานคร 60.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
5 อันดับของ ค่าฝุ่น PM2.5 เขตสูงสุดในกรุงเทพมหานคร
- เขตหนองแขม 94.1 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางบอน 77.5 มคก./ลบ.ม.
- เขตบางขุนเทียน 75.2 มคก./ลบ.ม.
- เขตภาษีเจริญ 74.8 มคก./ลบ.ม.
- เขตทวีวัฒนา 71.6 มคก./ลบ.ม.
กรุงเทพเหนือ
50 - 57.3 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพตะวันออก
52.7 - 64.8 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพกลาง
51 - 63.1 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงเทพใต้
54.1 - 70.5 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงธนเหนือ
57.1 - 71.6 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
กรุงธนใต้
61.9 - 94.1 มคก./ลบ.ม.
ภาพรวม : อยู่ในเกณฑ์เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ
ข้อแนะนำสุขภาพ
คุณภาพอากาศระดับสีส้ม (เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ)
ประชาชนทั่วไป : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาในการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา
ประชาชนกลุ่มเสี่ยง : ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรมหรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
คุณภาพอากาศระดับสีแดง (มีผลกระทบต่อสุขภาพ)
- งดกิจกรรมกลางแจ้ง
- หากมีความจำเป็นต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองทุกครั้ง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5
- หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศ ให้เตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อมและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 15 วันล่วงหน้า (ระหว่างวันที่ 9-23 มกราคม 2568)
วันนี้ (9 มกราคม 2568) มวลอากาศเย็นยังแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ลมมีกำลังอ่อน อากาศอุ่นขึ้น ตอนเช้ายังมีอากาศเย็นและมีหมอก สำหรับภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนยังมีอากาศหนาว และยังมีหนาวจัดตามยอดภู ยอดดอย มีน้ำค้างแข็งบางพื้นที่ กลางวันอากาศร้อนขึ้น ระวังรักษาสุขภาพช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ช่วงนี้อากาศแห้งระวังอัคคีภัย เดินทางสัญจรระวังบริเวณที่มีหมอกหนา ส่วนภาคใต้ฝนน้อยลง แต่ยังเกิดขึ้นบางแห่งฝั่งอ่าวไทย คลื่นลมอ่อนลง ระวังคลื่นลมแรงบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
ช่วงวันที่ 10-13 มกราคม 2568 คาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นกำลังแรงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ลมหนาวพัดแรง อุณหภูมิลดลง อาจลดลงไปถึงภาคใต้ตอนบน โดยภาคเหนือและอีสานลดลง 5-7 องศาเซลเซียส อากาศหนาวหลายพื้นที่ หนาวจัดยังคงเกิดขึ้นได้บริเวณยอดภู ยอดดอย ต้องเฝ้าระวังอากาศที่เปลี่ยนแปลง ระวังลมแรงและอากาศหนาวเย็น ส่วนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นบ้างและตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่าง คลื่นลมแรงขึ้น ระวังคลื่นซัดฝั่ง ชาวเรือต้องเฝ้าระวังเรือเล็กงดออกจากฝั่งโดยเฉพาะบริเวณอ่าวไทย
และช่วงวันที่ 14-23 มกราคม 2568 มวลอากาศเย็นจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมเป็นระลอกๆ อุณหภูมิจะสูงขึ้นและลดลงสลับกันไป ฤดูหนาวยังไม่สิ้นสุด ยังสามารถสัมผัสอากาศหนาวเย็นถึงหนาวได้บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ถึงปลายเดือนมกราคม ส่วนภาคใต้ในระยะนี้ฝนน้อยลง