ปรับภูมิทัศน์ตลาดทุนด้วย การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (1)

ปรับภูมิทัศน์ตลาดทุนด้วย การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (1)

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกระบวนการดำเนินคดีที่สามารถตอบโจทย์ ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและมีผู้เสียหายจำนวนมาก

ในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา มีคดีใหญ่หลายคดีที่เกิดขึ้นในตลาดทุน ซึ่งสร้างผลกระทบและความเสียหายกับผู้ถือหุ้นเป็นวงกว้าง เมื่อมีผู้เสียหายมากการดำเนินคดีความในศาลด้วยกระบวนการปกติอาจไม่ตอบโจทย์คดีในลักษณะนี้

ด้วยเพราะการดำเนินคดีความในศาลและมีคำพิพากษาออกมาโดยปกตินั้น คำพิพากษานั้นจะผูกพันเฉพาะคู่ความ ซึ่งได้แก่โจทก์และจำเลยเท่านั้น

เช่นในกรณีที่ A ทำให้ B ได้รับบาดเจ็บ เมื่อ B ดำเนินคดีกับ A และศาลมีคำพิพากษาให้ A ชดใช้ความเสียหายแก่ B คำพิพากษานี้จะมีผลเฉพาะ A กับ B เท่านั้น

ในขณะเดียวกัน หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจาก B แล้ว A ยังทำให้ C ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำเดียวกันด้วย C จะไม่ได้รับค่าเสียหายเช่นเดียวกับ B นอกเสียจากว่า C จะได้ฟ้อง A ร่วมกับ B หรือฟ้องเป็นอีกคดีก่อน

ดังนั้น ในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นเป็นวงกว้างและมีผู้เสียหายจำนวนมาก การเรียกร้องค่าเสียหายผ่านกระบวนการทางศาลจะมีคู่ความฝั่งโจทก์เป็นจำนวนมาก ทำให้การดำเนินการมีต้นทุนสูงและเป็นไปด้วยความยุ่งยาก

 เนื่องจากต้องรวบรวมผู้เสียหาย การหาทนายความว่าความแทนผู้เสียหายทั้งหมด รวมถึงต้องใช้ทรัพยากรของรัฐในกระบวนการทางศาล อาทิ การสืบพยานและพิสูจน์หลักฐานจำนวนมาก

ขณะเดียวกันทำให้มีคดีจำนวนมากเข้าสู่ศาล ส่งผลต่อภาระงานของศาลมากเกินควรแล้ว การมีผู้พิพากษาหลายคนตัดสินคดีกรณีเดียวกัน โดยมีการนำสืบจากผู้เสียหายและทนายความหลายคนแยกต่างหากจากกัน ยังอาจนำไปสู่ผลของคำพิพากษาที่แตกต่างกัน และกระทบต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมในภาพรวมอีกด้วย

การดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) เป็นกระบวนการดำเนินคดีที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ โดยวัตถุประสงค์หลักของกระบวนการนี้คือการที่คำพิพากษามีผลผูกพันบุคคลภายนอกคดี โดยบุคคลภายนอกคดีนี้ต้องมีลักษณะเข้าข่ายเป็น “สมาชิกกลุ่ม” (class)

กล่าวคือ เมื่อโจทก์ได้ฟ้องคดีดังกล่าวแก่ศาล และศาลอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว บุคคลที่มีลักษณะเงื่อนไขเดียวกับโจทก์ ตรงตามนิยามของสมาชิกกลุ่มที่ได้กำหนดไว้ในคำฟ้อง

บุคคลเหล่านั้นก็จะได้รับผลจากคำพิพากษาเดียวกันกับโจทก์ในคดีนั้นโดยไม่ต้องจ้างทนายความเพื่อเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทั้งฝั่งของผู้เสียหายและศาล และการมีคำพิพากษาครั้งเดียวต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันก็จะทำให้ไม่เกิดความลักลั่นย้อนแย้งกันเอง

นอกจากนี้ คดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากมักจะเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ รวมถึงผู้ก่อความเสียหายก็มักจะเป็นผู้ที่มีศักยภาพในการก่อความเสียหายเป็นวงกว้าง

อาทิ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการผลิตและกระจายสินค้าได้จำนวนมาก หากสินค้าที่ผลิตนั้นชำรุดบกพร่องก็จะมีผู้บริโภคได้รับผลกระทบจำนวนมากตามไปด้วย

หรือกรณีโรงงานขนาดใหญ่เลิกจ้างพนักงาน ก็จะมีการเรียกค่าชดเชยโดยลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานจำนวนมาก หรือกรณีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลก็จะกระทบต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณนั้น ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในภาพรวม

ยิ่งไปกว่านั้น ในคดีที่เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ซึ่งผู้เสียหายแต่ละคนอาจได้รับความเสียหายไม่เท่ากันนั้น การดำเนินคดีแบบกลุ่มจะทำให้ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจำนวนไม่มาก (small claim) ได้รับการชดเชยด้วย

ในทางกลับกัน หากเป็นคดีตามปกติผู้เสียหายที่เสียหายไม่มากอาจจะเลือกไม่ฟ้องคดี เนื่องจากค่าชดเชยที่จะได้รับอาจไม่คุ้มค่ากับเวลาและค่าจ้างทนายความที่เสียไป

จึงอาจถือได้ว่าการดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นนอกจากจะช่วยลดต้นทุนทั้งผู้เสียหายและศาลแล้ว ยังเป็นการนำคดีที่ควรได้รับการชดเชยเข้าสู่ศาล เป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา

ในขณะที่ผู้ก่อความเสียหายมักจะเป็นนิติบุคคลที่มีขนาดใหญ่ และมีผลเป็นการป้องปราม (deterrent effect) ผู้ก่อความเสียหายให้มีความระมัดระวังในการประกอบกิจการมากขึ้นอีกด้วย

ประเทศไทยได้กำหนดกลไกเพื่อรองรับการดำเนินคดีแบบกลุ่มไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ส่วนที่ 3 การพิจารณาคดีแบบกลุ่ม (มาตรา 222/14 - 222/34) โดยมีหลักการสำคัญคือ

(1) ผู้เสียหายไม่ต้องฟ้องคดีเองทุกคน มีโจทก์เป็นตัวแทนผู้เสียหายฟ้องคดี และศาลรับรองให้เป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่มก็เพียงพอแล้ว

(2) เมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้ว ผู้เสียหายสามารถได้รับชดเชยค่าเสียหายเช่นเดียวกับโจทก์ (แต่จำนวนค่าเสียหายอาจแตกต่างกันตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง)

ในปัจจุบัน มีการดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีผู้บริโภค คดีแรงงาน และคดีสิ่งแวดล้อม เนื่องจากคดีเหล่านี้ มักจะเป็นคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ยังมีคดีที่มีผู้เสียหายจำนวนมากซึ่งสามารถดำเนินคดีแบบกลุ่มได้ อาทิ คดีการแข่งขันทางการค้า รวมถึงคดีหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่พบว่ายังไม่มีการดำเนินคดีมากเท่าที่ควร

เนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ ทำให้ยังไม่เกิดองค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุน และไม่เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญในการดำเนินคดีดังกล่าวอย่างเป็นระบบเท่ากับคดีประเภทอื่นที่มีองค์กรสนับสนุนและมีการดำเนินคดีแล้ว

ทั้งนี้ แม้การประกอบกิจการในตลาดทุนจะมีมาตรฐานต่างๆ สำหรับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามแล้ว แต่กระนั้นอุบัติเหตุหรือความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายก็ยังมีอยู่

การดำเนินคดีจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นทางเลือกสุดท้ายในการได้รับ หรือต่อรองเพื่อให้เกิดการเยียวยาความเสียหาย โดยเฉพาะกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุนเนื่องจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

การดำเนินคดีแบบกลุ่มนับเป็นเป็นกลไกสำคัญที่เป็นปราการสุดท้ายในการรักษาสิทธิของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ การกำหนดกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้กระบวนการดังกล่าวสามารถอำนวยความสะดวกและความยุติธรรมแก่คู่ความจึงมีความจำเป็นอย่างมาก

ติดตามบทความตอนต่อไป “ปรับภูมิทัศน์ตลาดทุนด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (2)” ซึ่งจะระบุถึงอุปสรรคการดำเนินคดีแบบกลุ่มในประเทศไทย รวมทั้งข้อเสนอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินคดีแบบกลุ่มทั้งสำหรับคดีหลักทรัพย์และคดีประเภทอื่น

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” โดยทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริม การพัฒนาตลาดทุน (CMDF)