ทั่วไป
ฮีทสโตรก โรคหน้าร้อนที่ห้ามประมาท เช็กสัญญาณเตือน วิธีปฐมพยาบาล

อากาศร้อน กรมควบคุมโรค เตือน "ฮีทสโตรก" โรคหน้าร้อนที่ห้ามประมาท เช็กสัญญาณเตือน - วิธีปฐมพยาบาล และการป้องกัน
หน้าร้อนปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าอุณหภูมิปีนี้จะสูงขึ้นกว่าปีก่อน อาจสูงถึง 44.5 องศาเซลเซียส ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะ "โรคลมร้อน" หรือ "ฮีทสโตรก" (Heat stroke) ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนะนำวิธีปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการเกิด อาการฮีทสโตรก สัญญาณเตือนของฮีทสโตรก และวิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดอาการฮีทสโตรก ดังต่อไปนี้
สัญญาณเตือนของโรคฮีทสโตรก (Heat stroke)
- ตัวร้อน วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอ่อนเพลีย
- เหงื่อออกมาก และเกิดภาวะขาดน้ำ
- เกิดอาการชัก เป็นลมแดด
วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่เกิดอาการฮีทสโตรก
- หากพบเห็นผู้ป่วยที่เกิดอาการฮีทสโตรก ให้ปฐมพยาบาลโดยการนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น และให้ดื่มน้ำมากๆ ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน
- หากผู้ป่วยหมดสติ ให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วนที่เบอร์ 1669
วิธีป้องกันและรับมืออาการฮีทสโตรก
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน
- ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ ลดการสูญเสียน้ำในร่างกาย
- สวมเสื้อผ้าสีอ่อนระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำเพราะจะสะสมความร้อนได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก
- ควรอยู่เป็นกลุ่ม หลีกเลี่ยงการอยู่คนเดียว หากมีอาการผิดปกติจะได้มีคนช่วยเหลือได้
อ้างอิง/ภาพจาก กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, กองระบาดวิทยา, สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค