'แม่น้ำกก' ปนเปื้อนสารหนู กรมควบคุมโรค ชี้ชัด ยังเที่ยวได้ไหม?

กรมควบคุมโรค เผยผลตรวจน้ำแม่น้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พบสารหนูเกินค่ามาตรฐาน เตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวงดใช้น้ำดื่ม-ประกอบอาหาร หลีกเลี่ยงกิจกรรมสัมผัสน้ำ
วันนี้ (15 เม.ย. 68) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่วิธีการปฏิบัติตัว กรณีเดินทางไปเที่ยว "แม่น้ำกก" ให้ปลอดภัย ห่างไกลสารหนู ภายหลังตรวจพบสารหนู และโลหะหนักอื่นๆ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำกก อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยมีค่าเกินมาตรฐานสารหนูในดินตะกอน (0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร) ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากแหล่งแร่ธรรมชาติในประเทศเพื่อนบ้าน และมีการปนเปื้อนของโลหะหนักในแหล่งน้ำ
สารหนูเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร
สารหนูสามารถเข้าสู่ร่างกายจาก ดื่มน้ำหรือรับประทานอาหาร ที่มีสารหนูปนเปื้อน ส่วนการสัมผัสทางผิวหนังจะเข้าสู่ร่างกายได้น้อยมาก
ผลกระทบทางสุขภาพ
- ภาวะพิษสารหนูแบบเฉียบพลัน (เกิดภายใน 24 ชั่วโมง)
คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ชาตามปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อเป็นตะคริว และอาจเสียชีวิตได้
- ภาวะพิษสารหนูแบบเรื้อรัง (ได้รับต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 5 ปี)
ผิวหนังหยาบกร้าน มีจุดสีดำตามลำตัว (เมลานอสมา) การเปลี่ยนสีของผิวหนัง อาจเกิดอาการปลายประสาทอักเสบ มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งตับ
การปฏิบัติตัว สำหรับประชาชน
- ติดตาม ประกาศจากหน่วยงานรัฐอย่างใกล้ชิด
- งดดื่มน้ำ และงดนำน้ำมาใช้ประกอบอาหาร
- หลีกเลี่ยง การสัมผัสน้ำจากแม่น้ำกกโดยตรง เช่น การลงเล่นน้ำ การจับสัตว์น้ำ
- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแม่น้ำกกในการเกษตร เช่น การรดน้ำพืชผัก
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชาแขนขา หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ
- ให้ไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการสัมผัสแม่น้ำกกให้ชัดเจน
การปฏิบัติตัว สำหรับนักท่องเที่ยว
- งดดื่มน้ำ และงดใช้น้ำมาประกอบอาหาร
- หลีกเลี่ยง การใช้น้ำจากแม่น้ำกก เช่น การเล่นน้ำ ล่องแพ หรือจับสัตว์น้ำ
- รวมถึงไม่ควรนำสัตว์น้ำมาบริโภคหรือปรุงอาหาร
- หากเข้าตา ควรรีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- กิจกรรมอื่นๆ เช่น ล่องแพ พายเรือ สามารถทำได้หากไม่สัมผัสน้ำโดยตรง