เตือนเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสัก น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชา ออกประกาศเตือน เฝ้าระวังแม่น้ำป่าสัก น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 10 – 16 สิงหาคม 2565
ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 25/2565 เรื่อง เฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา
ด้วยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้วิเคราะห์จากสถานการณ์ฝนตกหนักหลายพื้นที่ ในช่วงวันที่ 7 - 9 สิงหาคม 2565 พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักมีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทำให้มีปริมาณน้ำท่าไหลลงแม่น้ำป่าสักเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ สถานี S.3 อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยระดับน้ำยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยคาดการณ์ว่าระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่ง ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ทั้งนี้ มวลน้ำดังกล่าว จะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ในอัตรา 700 - 1,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับการคาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุนสูง พบว่า แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ ในช่วงวันที่ 10 – 16 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 18.00 - 21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง คาดว่าในช่วงดังกล่าว ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 – 2.10 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำป่าสัก และผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า
2. เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
3. ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงเวลาดังกล่าว พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์