กอนช. เตือน 13 จว.เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม แม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง

กอนช. เตือน 13 จว.เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม แม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง

กอนช. เตือน 13 จังหวัดเสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่ม ขณะที่ แม่น้ำโขง มีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง เช็กพื้นที่ไหนบ้างที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงาน "สถานการณ์น้ำ" ภาพรวมของประเทศ วันที่ 17 สิงหาคม 2565 มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือด้านตะวันตก ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

 

โดยปริมาณฝนตกใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกหนักบริเวณ จ.ลำปาง (174 มม.) จ.ระนอง (112 มม.) และ จ.ขอนแก่น (107 มม.)

 

เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1.0 - 2.0 ม. อย่างฉับพลัน ในช่วงวันที่ 14 - 18 สิงหาคม 2565

 

เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่ม บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ระยอง ตราด และระนอง

 

ขณะที่ แม่น้ำสายหลัก น้ำน้อยถึงปกติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 49,235 ล้าน ลบ.ม. (60%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 42,912 ล้าน ลบ.ม. (60%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 1 แห่ง บริเวณภาคเหนือ เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม แควน้อย ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด

 

 

กอนช. ประเมินพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 3 วันล่วงหน้า พร้อมเน้นย้ำหน่วยงานบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดย กอนช. ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักสะสมในช่วงวันที่ 16-18 สิงหาคม 2565 ในพื้นที่ จ.ตาก (อ.แม่สอด) แม่ฮ่องสอน (อ.แม่สะเรียง แม่ลาน้อย และ ขุนยวม) กาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ) จันทบุรี (อ.มะขาม) และกรุงเทพมหานคร

 

โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.น่าน จ.พะเยา และ จ.เชียงราย รวมทั้งยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม

 

ทั้งนี้ กอนช. พิจารณาแนวทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้วางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้า

 

กอนช. เน้นย้ำกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่จำนวน 10 แห่ง ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำด้วย

 

กอนช. เตือน 13 จว.เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม แม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงต่อเนื่อง

 

สถานการณ์อุทกภัย

 

จากสถานการณ์ "พายุมู่หลาน" เมื่อช่วงวันที่ 11 - 15 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ใน 6 จังหวัด (พิษณุโลก พิจิตร อุบลราชธานี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง และสุพรรณบุรี)

 

จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องส่งผลให้มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.นครไทย และ อ.วังทอง คาดว่า 1-2 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

จังหวัดพิจิตร มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.สากเหล็ก และ อ.วังทรายพูน ทำให้น้ำเอ่อล้นลำคลองและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร คาดว่า 2-3 วัน หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

 

จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่น้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.น้ำยืน และ อ.นาจะหลวย ทำให้น้ำเอ่อล้นลำห้วยและไหลเข้าสู่พื้นที่การเกษตร คาดว่า 2-3 วัน ปัจจุบันระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

 

จังหวัดสุพรรณบุรี มีพื้นที่น้ำท่วม 3 อำเภอ ได้แก่ อ.อู่ทอง อ.เมือง และ อ.บางปลาม้า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังการเกษตรลุ่มต่ำ คาดการณ์ว่าไม่เกิน 7 - 14 วัน สถานการณ์จะคลี่คลาย

 

จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและอ่างทอง เกิดจากฝนตกในพื้นที่ ประกอบกับการระบายน้ำจากท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่เพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรลุ่มต่ำรวม 6 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (อ.บางบาล อ.บางปะหัน อ.เสนา อ.ผักไห่ และ อ.ท่าเรือ) และ จังหวัดอ่างทอง (อ.ป่าโมก)

 

ปัจจุบัน กรมชลประทาน ได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา 1,200 ลบ.ม/วินาที