ข้อสังเกตต่อการทำพินัยกรรมอิเล็กทรอนิกส์ | กฤษรัตน์ ศรีสว่าง
โดยทั่วไปแล้ว นานาประเทศให้การรับรองหลักการการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งหมายถึงทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ อันเป็นทรัพย์เคลื่อนที่ได้ ทรัพย์เคลื่อนที่ไม่ได้ มีรูปร่างหรือไม่มีรูปร่างแล้วแต่กรณี
บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินไม่ว่าทรัพย์สินดังกล่าวจะมีหลักฐานทางทะเบียนหรือไม่ก็ตาม สามารถใช้สอย ใช้ประโยชน์ จำหน่าย จ่ายหรือโอนทรัพย์สินของตนเองให้แก่บุคคลอื่นได้ตามที่ต้องการ
การใช้สอย การใช้ประโยชน์ การจำหน่ายหรือการโอนทรัพย์สินดังกล่าวนี้อาจเกิดขึ้นโดยรูปของนิติกรรมสัญญาต่าง ๆ เช่น การให้เช่า การซื้อขาย การจำนอง การจำนำหรือการให้ทรัพย์สิน เป็นต้น
ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินมีสิทธิดังกล่าวข้างต้นอย่างเต็มเปี่ยมภายใต้บทบัญญัติกฎหมาย
อย่างไรก็ดี ในกรณีเจ้าของทรัพย์สินเป็นบุคคลธรรมดานั้น ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ตนเองยังคงมีชีวิตอยู่ แต่กฎหมายเปิดช่องให้บุคคลดังกล่าวสามารถทำพินัยกรรมเพื่อยกทรัพย์สินของตนเองให้กับบุคคลใด ๆ ภายหลังจากตนเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก ได้บัญญัติรับรองสิทธิการทำพินัยกรรมภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้
กล่าวคือ เจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองทรัพย์สินจะต้องแสดงเจตนาทำเอกสารพินัยกรรมเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นตามแบบพินัยกรรมที่ตนเองได้เลือก
โดยต้องระบุข้อความที่เป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในอนาคตเรื่องการยกทรัพย์สินของตนเองให้กับบุคคลใด ๆ พร้อมทั้งการลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม การลงลายมือของตนเองและลายมือชื่อของพยานอย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ดี บุคคลทั่วไปย่อมคุ้นเคยกับการทำพินัยกรรมที่เป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรหรือการทำพินัยกรรมลงในกระดาษเพื่อให้มีความเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ไม่ว่าจะเป็นการทำพินัยกรรมแบบเขียนด้วยลายมือของตนเอง แบบธรรมดาที่ต้องมีพยานบุคคลลงลายมือชื่อรับรอง หรือแบบเอกสารที่ต้องไปทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ
การทำพินัยกรรมดังกล่าวข้างต้น มีข้อจำกัดที่ต้องทำเป็นเอกสารลายลักษณ์อักษรลงในกระดาษเท่านั้น
แต่ในปัจจุบัน การทำธุรกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ เช่น การให้เช่า การซื้อขาย การจำนอง การจำนำหรือการให้ทรัพย์สิน เป็นต้น
เป็นไปในลักษณะการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือธุรกรรมที่กระทำขึ้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนมากยิ่งขึ้นตามพัฒนาการหรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทั้งนี้ การทำเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ได้รับการรับรองความมีผลผูกพันทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544
ซึ่งวางหลักการไว้ว่า ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใดเพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น การทำสัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย สัญญาจำนอง สัญญาจำนำ สัญญาให้ทรัพย์สินในรูปเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวข้างต้นจึงมีผลผูกพันและบังคับใช้ทางกฎหมายได้
อย่างไรก็ตาม ต่อมาภายหลังมีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดประเภทธุรกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ที่ยกเว้นมิให้นำกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับ พ.ศ. 2549 ซึ่งวางหลักการไว้ว่า ห้ามมิให้นำบทบัญญัติตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับแก่ธุรกรรมเกี่ยวกับมรดก
บทบัญญัติดังกล่าวนี้ส่งผลทำให้การทำธุรกรรมเกี่ยวกับมรดกโดยเฉพาะอย่างการทำพินัยกรรมในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ได้รับการรับรองการมีผลผูกพันทางกฎหมาย
หากพิจารณาเหตุผลของการประกาศใช้กฎหมายข้างต้นจะพบว่า แม้ว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติรับรองสถานะทางกฎหมายของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้เท่าเทียมกับธุรกรรมที่ทำบนกระดาษและการลงลายมือชื่อไว้แล้วก็ตาม
แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมบางประเภทยังไม่เหมาะสมที่จะให้กระทำได้ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี เหตุผลดังกล่าวนี้เป็นเหตุผลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาข้างต้นในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นเวลาเกือบยี่สิบปีมาแล้ว
ผู้เขียนเห็นว่า กรณีดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นการกำหนดนโยบายการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลกระทบทางลบต่อการทำธุรกรรมเกี่ยวกับมรดกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำพินัยกรรมในรูปของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน
เนื่องจากขณะนี้กฎหมายยังไม่ยอมรับความมีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับพัฒนาการ หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่สามารถจัดวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
ประกอบกับไม่สอดคล้องกับทางปฏิบัติของประชาชนที่มีความนิยมในการทำธุรกรรมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
หากมีการเปิดโอกาสให้มีการจัดวางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการทำพินัยกรรมแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้มีความเที่ยงตรงและความน่าเชื่อถือได้แล้ว
พร้อมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้ยอมรับความมีผลผูกพันทางกฎหมายของพินัยกรรมแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์แล้ว
ก็น่าเชื่อได้ว่าจะเป็นผลดีต่อผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการครอบครองทรัพย์สิน ที่ต้องการทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของตนเองให้กับบุคคลใด ๆ และเป็นผลดีต่อบุคคลที่เป็นผู้รับพินัยกรรมรวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องอีกด้วย.