การทำทานและฐานความคิดใหม่ในเมืองฝรั่ง | ไสว บุญมา
ขอทบทวนว่า บิล เกตส์ ตั้งมูลนิธิการกุศลขึ้นเพื่อรับทรัพย์สินจากเขาไปสนับสนุนโครงการช่วยชาวโลก ซึ่ง ณ วันนี้ มีค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ร่วมบริจาคเป็นหลักหมื่นล้านดอลลาร์เช่นกัน
บิล เกตส์ให้คำมั่นสัญญาว่าเขาจะบริจาคไปเรื่อยๆ จนในวาระสุดท้ายจะเก็บไว้เพียง 5% ของทรัพย์สิน ส่วน วอร์เรน บัฟเฟตต์ให้คำมั่นสัญญาว่าจะเก็บไว้เพียง 1% เท่านั้น
นอกจากจะบริจาคจำนวนมหาศาล พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาดังกล่าวแล้ว มหาเศรษฐีคู่นี้ยังเชิญชวนให้มหาเศรษฐีด้วยกันบริจาคและให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินเป็นทานอีกด้วย ณ วันนี้ มีมหาเศรษฐีทั่วโลกเข้าร่วมแล้ว 236 ราย ซึ่งมีทรัพย์สินที่จะบริจาคไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ (รายชื่อของมหาเศรษฐีที่เข้าร่วมมีอยู่ในเว็บไซต์ givingpledge.org)
ในสหรัฐ ไม่เฉพาะมหาเศรษฐีเท่านั้นที่บริจาคทรัพย์สินเป็นทาน หากแต่ชาวบ้านโดยทั่วไปก็ทำ ข้อมูลจากนิตยสารไทม์บ่งว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันบริจาคทรัพย์สินราว 4.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 2% ของรายได้ที่อยู่ในมือของพวกเขา แม้การบริจาคแต่ละปีจะเป็นจำนวนมาก
แต่เนื่องจากปัญหาของโลกมีหลากหลายและสลับซับซ้อน การบริจาคนั้นจะแก้ปัญหาได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ต่อเมื่อมันมีประสิทธิภาพเป็นเกณฑ์ของการบริจาค
แนวคิดใหม่นี้เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชนในสหรัฐและสหราชอาณาจักร พวกเขามิได้เสนอแนวคิดอย่างเดียว หากร่วมกันลงมือทำอย่างจริงจัง อีกทั้งยังได้ก่อตั้งองค์กรกลางขึ้นมาชื่อ “ศูนย์การทำทานแบบประสิทธิภาพ” (Centre for Effective Altruism) เมื่อ 10 ปีก่อน
ซึ่งตอนนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมีอาจารย์หนุ่มของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นผู้สนับสนุนหลักทั้งในด้านปรัชญาพื้นฐานและด้านการทำตัวอย่างให้ดู
งานของศูนย์นั้นและกลุ่มผู้ร่วมเคลื่อนไหวตามแนวคิดใหม่ครอบคลุมทั้งด้านการวิจัยและด้านการออกไปทำงานในสนาม ณ วันนี้มีองค์กรในประเทศทั่วโลกเข้าร่วมแล้วกว่า 200 แห่ง และมีผู้ร่วมให้คำมั่นสัญญาว่าจะบริจาคตามแนวคิดใหม่อย่างน้อย 10% ของรายได้แล้วกว่า 7,000 ราย ในจำนวนนี้ยังมีมหาเศรษฐีไม่กี่คน แต่นั่นไม่ทำให้บรรดาผู้นำการเคลื่อนไหววิตกว่างานตามแนวคิดใหม่จะไปไม่รอด
Cr. UN
ทั้งนี้เพราะแนวโน้มบ่งชี้ว่ามีผู้เห็นด้วยกับแนวคิดพื้นฐานและการมีกฎเกณฑ์ในการดำเนินงานกับมาตรในการวัดความมีประสิทธิภาพชัดเจนของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งมหาเศรษฐีลำดับ 1 ของโลกในขณะนี้ อีลอน มัสค์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการทำทานตามฐานความคิดใหม่นี้มีความยืดหยุ่นสูง และอาจพูดได้ว่ามีทางสายกลางและเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเกณฑ์พิจารณา
เช่น อาจารย์ที่อ้างถึงมิได้ตั้งเกณฑ์ตายตัวว่าเขาจะบริจาคกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้ หรือจำนวนเท่าไรในแต่ละปี หากคำนวณว่าเขาจะต้องเก็บรายได้ไว้เท่าไรสำหรับเลี้ยงชีพแบบพอเพียง แล้วจึงบริจาคส่วนที่เหลือเป็นทาน รวมทั้งรายได้จากการขายหนังสือด้วย
ส่วนผู้อื่นก็พิจารณาว่าตนสามารถบริจาคได้เท่าไรโดยไม่นำความเดือดร้อนมาให้ตนเอง แม้การบริจาคอาจจะทำได้เพียงจำกัดและมองเห็นได้ไม่ชัดว่ามันน่าจะช่วยแก้ปัญหามหึมาที่ทำให้น่าท้อใจได้อย่างไร แต่ประวัติศาสตร์ชี้ชัดว่าบางปัญหาใช้เวลาเป็นร้อยปีก่อนที่จะแก้สำเร็จ ฉะนั้นทุกคนจึงควรทำ
ฐานความคิดใหม่นี้มีรายละเอียดอีกมาก รวมทั้งการไม่เห็นด้วยกับการทำทานเพราะอารมณ์ผูกพันโดยมิได้พิจารณาก่อนว่ามีทางเลือกอื่นที่น่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าหรือไม่ เช่น การบริจาคจำนวนมากให้มหาวิทยาลัยเพราะตนเรียนจบจากที่นั่น ทั้งที่มหาวิทยาลัยมีทรัพย์สินกองมหึมาอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้เมื่อนำมาใช้ส่องสังคมไทย จึงเห็นทั้งการบริจาคที่น่าจะพิจารณากันอย่างกว้างลึกขึ้นอีกจำพวกเพื่อสร้างพระพุทธรูปขนาดยักษ์เนื่องจากอยากได้บุญ และกิจกรรมที่น่าจะทำกันอย่างกว้างขึ้นแม้งานของแต่ละคนดูจะมีผลเพียงจำกัดจำพวกจิตอาสาต่างๆ รวมทั้งการเป็นภารโรงให้โรงเรียนที่ขาดแคลนงบประมาณ