Quiet Quitting - ท่านเป็นหรือไม่? | พสุ เดชะรินทร์
แฮชแท็กหนึ่งที่เป็นกระแสในโลก TikTok คือคำว่า Quiet Quitting บรรดา TikTokers ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ทำงานเพียงแค่ขั้นต่ำตามที่ต้องทำเท่านั้น ไม่ทำในสิ่งที่เหนือกว่าหรือมากกว่าภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ (Quitting going above and beyond)
ปรากฏการณ์ Quiet Quitting มีมานานแล้ว ในที่ทำงานหลายๆ แห่งจะพบเห็นพนักงานที่ทำงานเฉพาะตามหน้าที่ความรับผิดชอบ ตามภาระงานขั้นต่ำ ตามที่เจ้านายสั่ง ฯลฯ แต่จะไม่กระตือรือร้น ริเริ่ม หรือ ยินยอมที่จะทำมากกว่าสิ่งที่ตนเองต้องรับผิดชอบ
แต่ที่มีชื่อเรียกหรือเป็นกระแสมากขึ้น ก็เนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งผลจากโควิด การเข้ามาทำงานของคนรุ่นใหม่ และกระแสสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ จะประมวลได้ว่าสาเหตุที่ทำให้พนักงาน Quiet Quitting นั้นมาจากห้าสาเหตุหลักด้วยกัน
1. เป็นโดยนิสัย เป็นพวกที่อู้ได้เป็นอู้ ไม่ชอบทำงาน ขี้เกียจ แต่ขณะเดียวกันก็ฉลาดและหัวหมอ ดังนั้นจึงทำงานตามหน้าที่รับผิดชอบได้อย่างดี แต่ไม่ยอมทำมากกว่านั้น
2. มีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าในชีวิต เป็นผู้ที่แสวงหาความสมดุลในชีวิต รู้สึกว่าไม่คุ้มที่จะทำงานแบบทุ่มกายถวายชีวิตให้กับองค์กร คนพวกนี้จะแยกระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวและมีกรอบในการทำงานที่ชัดเจน เช่น ไม่คุยเรื่องงานหลังเลิกงาน หรือ ในช่วงเสาร์อาทิตย์
คนกลุ่มนี้เมื่อทำงาน ก็จะตั้งใจ มีความพยายามในการทำงานเพื่อให้งานออกมาดี แต่จะปฏิเสธหรือไม่ทำในสิ่งที่คิดว่าไม่ก่อให้เกิดคุณค่าแก่ชีวิต หรือ ทำให้ชีวิตนอกที่ทำงานต้องวุ่นวายและเดือดร้อน
3. พวกที่เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า เบื่อหน่ายมาจากการทำงานในอดีต (Burnout) เป็นกลุ่มที่ในอดีตได้ทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งตามและเหนือกว่าหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะหมดไฟ รู้สึกว่าอิ่มตัวหรือพอแล้วกับการทำงานอย่างทุ่มเทในอดีต
4. พวกที่รู้สึกตนเองไร้คุณค่าในที่ทำงาน คนกลุ่มนี้จะเริ่มต้นการทำงานด้วยความกระตือรือร้น ทุ่มเท ตั้งใจอย่างเต็มที่ แต่ได้รับการปฏิบัติที่ไม่ดีจากเจ้านาย รู้สึกว่าความเห็นและการทำงานของตนไม่มีคุณค่า จึงหมดกำลังใจและความกระตือรือร้น
5. พนักงานรุ่นใหม่ที่เริ่มเข้าทำงานในช่วงโควิด และคุ้นชินกับการทำงานผ่านทางออนไลน์ หรือ Work from anywhere และจนถึงบัดนี้คนกลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้กลับเข้าออฟฟิศแบบเต็มเวลา จึงมีเวลาและโอกาสในการทำอย่างอื่นไปพร้อมกับงานประจำ จนกระทั่งงานประจำอาจจะกลายเป็นงานอดิเรกไปแทน
ไม่ว่าจะ Quiet Quitting ด้วยสาเหตุใด คนเหล่านี้ จะไม่ได้มีความสนใจที่จะเจริญก้าวหน้า หรือ เติบโตในหน้าที่การงาน จึงไม่ได้กระตือรือร้นที่จะทุ่มเทให้กับองค์กร รวมทั้งขาดแรงจูงใจในการทำงาน และเห็นสิ่งอื่นที่สำคัญในชีวิตมากกว่าการทำงาน
สำหรับมุมมองของพนักงาน Quiet Quitting อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะเป็นการทำงานตามที่ต้องทำ ตามความรับผิดชอบ ทำตามเงินเดือนที่ได้รับ แถมยังไม่ควรจะถูกเรียกเป็น Quiet Quitting ด้วยซ้ำ เพราะมันคือการทำงาน (Doing your job)
สำหรับผู้บริหารแล้ว พนักงานที่ Quiet Quitting ก็คือพนักงานที่ไม่ Engaged กับองค์กร เป็นพนักงานที่ถึงแม้จะทำตามหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่ก็ขาดความกระตือรือร้น ความทุ่มเท ที่จะทำมากกว่าความรับผิดชอบ
ในสหรัฐอเมริกานั้น ได้มีการสำรวจโดย Gallup และพบว่าผู้ที่เกิดหลังปี 1989 หรือ มีอายุน้อยกว่า 33 ปี จำนวนร้อยละ 54% ตกอยู่ในกลุ่มที่ไม่ Engaged หรือ เป็น Quiet Quitting
การจะแก้ปัญหาเรื่อง Quiet Quitting นั้นไม่สามารถใช้แนวทางเดียวกับทุกกลุ่มได้ จะต้องดูว่าลูกน้องของตน Quiet Quitting เพราะสาเหตุใด และเลือกใช้แนวทางที่แตกต่างออกไป
เช่น คนรุ่นใหม่ก็จะต้องทำให้เห็น Purpose ของการทำงาน ว่าที่ไปนั้นยิ่งใหญ่กว่าแค่การทำกำไรให้ผู้ถือหุ้น แต่มีประโยชน์กับสังคมและคนอื่น หรือ คนรุ่นเก่าที่ Burnout ก็อาจจะต้องหางานที่เหมาะสมกับความสามารถและประสบการณ์ หรือ กลุ่มที่หมดกำลังใจก็ต้องพูดคุยและปรับวิธีการบริหารเสียใหม่.
ทัศนะ มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]