เล็งขึ้นค่า "แท็กซี่" แจงต้นทุนพุ่งสวนทางรายได้ เหตุผู้ใช้บริการเดินทางระยะสั้น
"กรมการขนส่งฯ" จ่อปรับขึ้นราคาค่า "แท็กซี่" ในรอบ 8 ปี แจงเหตุปรับขึ้นค่าโดยสารเนื่องจากผู้ใช้บริการเดินทางระยะสั้น ต้นทุนเดินรถสูง กระทบรายได้ผู้ขับขี่สวนทางค่าครองชีพในปัจจุบัน
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาผลกระทบจาก การปรับอัตราค่าจ้างบรรทุกคนโดยสาร สำหรับรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI – METER) ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีข้อเรียกร้องจากผู้ขับรถแท็กซี่ นำโดย คณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคม ขอเสนอให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารแท็กซี่เพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
เนื่องจากกว่า 8 ปี (ตั้งแต่ปี 2557 - 2565) ที่รถแท็กซี่ยังคงใช้อัตราค่าโดยสารเดิมอยู่ ซึ่งสวนทางกับอัตราค่าเชื้อเพลิงและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคม จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานชุดนี้ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม, กรมการขนส่งทางบก, TDRI, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม
ทั้งนี้ จากการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน โดย TDRI ศึกษาแล้วพบว่า ประชาชนเดินทางด้วยระยะทางที่สั้นลง เที่ยววิ่งในการให้บริการเดินรถน้อยลง ส่งผลให้ต้นทุนการเดินรถสูงขึ้น รายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่จึงลดน้อยลง เป็นผลให้จำนวนผู้ให้บริการรถแท็กซี่ลดน้อยลง
ขณะนี้ รถแท็กซี่ ที่ให้บริการจริงประมาณ 60,000 คัน/วัน จากจำนวนรถทั้งสิ้น 80,000 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 ของรถแท็กซี่ทั้งหมด ซึ่งรายได้ของผู้ขับรถแท็กซี่มีทิศทางสวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2557-2565 พบว่ามีอัตราเพิ่มสูงขึ้นประมาณร้อยละ 7
ขณะเดียวกัน คณะทำงานฯ จึงได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก นำข้อมูลการศึกษาของ TDRI และข้อเรียกร้องของผู้ขับรถแท็กซี่ มาเปิดรับฟังความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน TDRI และภาคประชาชน รวมถึงรับฟังความคิดเห็นในภาพรวมทาง Facebook ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับอัตราค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลง
โดยขอให้กระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบกพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่สมดุลระหว่างข้อเสนอของผู้ขับรถแท็กซี่ที่เสนอสูงเกินไปกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวมทั้งต้องการให้รัฐควบคุมคุณภาพการให้บริการของกลุ่มรถแท็กซี่ให้มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการของประชาชนเป็นหลัก โดยขณะนี้คณะทำงานยังอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับขึ้นอัตราค่าบริการให้สอดคล้องตามความเห็นของทุกภาคส่วน โดยยืนยันจะมิให้มีผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนที่เกินกว่าดัชนีผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อีกทั้งจะต้องปรับปรุงคุณภาพการให้บริการด้วย
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า หากมีการพิจารณาปรับอัตราค่าโดยสารผู้ขับรถแท็กซี่ต้องพัฒนาคุณภาพในการให้บริการประชาชน โดยไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร และกรมการขนส่งทางบกจะนำระบบตัดแต้มรถโดยสารสาธารณะมาใช้กำกับ ควบคุมคุณภาพการให้บริการอย่างเข้มงวด