กปน. สานต่อ "ครอบครัวตาสับปะรด Season 3"
กปน. สานต่อ “ครอบครัวตาสับปะรด Season 3” ชวนประชาชนร่วมโครงการฯ สร้างจิตสำนึกอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ
13 มีนาคม 2566 ณ บริเวณลานน้ำพุ ชั้น 2 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดกิจกรรมเดินรณรงค์โครงการ ครอบครัวตาสับปะรด Season 3 เชิญชวนประชาชนร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ด้วยการแจ้งเหตุท่อประปาแตกรั่ว ผ่านแอปพลิเคชัน MWA onMobile โดยมีนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการการประปานครหลวง (กปน.) นายกฤษดา กวีญาณ นายวีรวัฒน์ ยมจินดา กรรมการ กปน. นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. นายประสพสุข สมประสงค์ นายสุเทพ เอื้อปกรณ์ นางราชิรัช อุทาโย รองผู้ว่าการ กปน. เข้าร่วมกิจกรรม
นายนริศ ขำนุรักษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ให้มีน้ำประปาสะอาดปลอดภัยใช้อุปโภคบริโภคอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและเพียงพอ โดยที่ผ่านมาการลดน้ำสูญเสียเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วนที่กระทรวงมหาดไทยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ ซึ่งในปีที่ผ่านมา กปน. ได้ร่วมกับ จ.นนทบุรี และ จ.สมุทรปราการ ดำเนินโครงการครอบครัวตาสับปะรด Season 2 และได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี โครงการครอบครัวตาสับปะรด Season 3 จึงถือเป็นการสานต่อโครงการดังกล่าว เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสืบไป
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ประธานกรรมการ กปน. กล่าวว่า กปน. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ผลิตและบริการน้ำประปาสะอาดปลอดภัยให้ประชาชน ได้ให้ความสำคัญกับการลดน้ำสูญเสียระหว่างการจ่ายน้ำจากสถานีสูบจ่ายสู่บ้านเรือนประชาชน ซึ่งจากการดำเนินโครงการฯ ใน 2 Season ที่ผ่านมา มีการแจ้งเรื่องท่อประปาแตกรั่วกว่า 7,557 ครั้ง ช่วยลดน้ำสูญเสียได้กว่า 280 ล้านลิตร และกปน. หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนดังเช่น 2 Season ที่ผ่านมา
นายมานิต ปานเอม ผู้ว่าการ กปน. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการ ครอบครัวตาสับปะรด Season 3 มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 โดย กปน. ขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ให้บริการของกปน. ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ร่วมกันสอดส่องดูแล และแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับท่อประปาแตกรั่ว หรือถ่ายรูปจุดที่ท่อประปาแตกรั่ว ส่งผ่านทางแอปพลิเคชัน MWA onMobile ซึ่งสามารถระบุพื้นที่ได้อย่างแม่นยำ และเจ้าหน้าที่ กปน. สามารถเข้าไปตรวจสอบและซ่อมแซมได้อย่างรวดเร็ว เพื่อร่วมกันลดน้ำสูญเสียและปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้อยู่กับชาวไทยตลอดไป