ศิลปะประยุกต์จากกระเบื้องวัดราชบพิธฯ
อีกการศึกษาวิจัยชุดสีกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสีสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประยุกต์ และต้นแบบแพนโทน สำหรับการใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหะสถานและสิ่งทอ
การนำกระเบื้องหลากหลายสีสัน มาประยุกต์สร้างอาคารศาสนสถานของวัด เป็นอีกงานศิลปะที่มีความงดงาม
ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยลายกระเบื้องในวัดราชบพิธฯ ฝีมือออกแบบของพระอาจารย์แดงแห่งวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเขียนลายต้นแบบและส่งไปผลิตที่ประเทศจีน แล้วส่งกลับใช้ในงานออกแบบผสมผสานรูปแบบศิลปกรรมภายในวัด
ด้วยเหตุนี้ เพื่อสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของกระเบื้องและชุดสีกระเบื้อง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มอบทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการ “การศึกษาชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสี ผ่านมุมมองการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะประยุกต์และต้นแบบแพนโทน สำหรับการใช้งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เคหะสถานและสิ่งทอ”
การศึกษาชุดสีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ
เมื่อเร็วๆ นี้คณะผู้บริหารหลายหน่วยงานได้เข้าเฝ้ารับเสด็จและถวายผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากโครงการแด่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์
รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล นักวิจัยหลักโครงการฯ และทีมงานได้ทำการถอดชุดสีจากกระเบื้องวัดราชบพิธฯ เพื่อจัดทำชุดโครงสีและต้นแบบแพนโทนของวัดราชบพิธฯ ขึ้น โดยนำชุดโครงสีและแพนโทนนี้ไปต่อยอดออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
“สีของกระเบื้องวัดราชบพิธฯ แต่ละสีจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างไปจากแพนโทนสากลหรือไทยโทน ซึ่งเป็นชุดสีของไทยดั้งเดิม โดยครั้งนี้ เราได้คิดและตั้งชื่อแพนโทนขึ้นใหม่ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไทยและความเป็นวัดราชบพิธฯ เพื่อใช้ประโยชน์ในวงการศิลปะ”
นอกจากนี้ได้มีการนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ได้จากชุดโครงสีมาจัดแสดงให้ชม อาทิ ผลิตภัณฑ์จานกระเบื้องที่ใช้สีจากกระเบื้องของวัดราชบพิธฯ ปลอกหมอนและผ้าพันคอ รวมถึงแพนโทนสีของกระเบื้องวัดที่แตกต่างจากแพนโทนสีทั่วไป