TPCX CBS และ Bitkub Chain MOU โครงการร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้
บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ และบิทคับเชน MOU โครงการร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้สำหรับ นิสิต บุคลากร ศิษย์เก่าและผู้ที่เกี่ยวข้องของคณะ CBS โดยแพลตฟอร์ม Certifile ด้วยนวัตกรรมบล็อกเชน
27 มิถุนายน 2566 บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด ภายใต้เครือสหพัฒน์ โดย นายกรวิชญ์ ณรงคนานุกูล กรรมการผู้จัดการ ร่วมกับ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ (Chulalongkorn Business School) โดย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด โดย นายภาสกร ปานนอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU โครงการร่วมพัฒนาระบบฐานข้อมูลที่มีความเชื่อถือได้สำหรับนิสิต บุคลากร ศิษย์เก่าและผู้ที่เกี่ยวข้องของคณะ CBS โดยแพลตฟอร์ม Certifile ด้วยนวัตกรรมบล็อกเชน ณ Bitkub M Social ที่ศูนย์การค้าเอ็มควอร์เทียร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566
ปัจจุบันปัญหาการสวมสิทธิ์หรือการปลอมแปลงเป็นบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในทางมิชอบเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยและสร้างความเสียหายในวงกว้างทั้งในระดับบุคคลและระดับองค์กร ส่งผลให้สังคมเสียประโยชน์อย่างยาวนาน อาทิ การปลอมแปลงเอกสารเพื่อประกอบการใช้สมัครงานหรือการศึกษาต่อ การปลอมบัตรประจำตัวเพื่อเข้าถึงทรัพยากรขององค์กร เป็นต้น โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือขาดฐานข้อมูลที่มีระบบตรวจสอบอย่างน่าเชื่อถืออย่างสะดวก จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งโครงการตรวจสอบและพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อนำไปสู่สังคมที่เชื่อถือได้ด้วยมาตรฐานความปลอดภัย
ในการร่วมมือครั้งนี้จะได้นำเทคโนโลยี บล็อกเชน เข้ามาแก้ปัญหาด้านการปลอมแปลงเอกสาร และนวัตกรรมดังกล่าวสามารถตรวจสอบประวัติการออกเอกสารผ่านธุรกรรมบนบล็อกเชน มั่นใจได้ว่าเอกสารที่ออกโดย Chulalongkorn Business School (CBS) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นทางผ่าน Certifile ไม่สามารถปลอมแปลงได้ และยากแก่การเจาะฐานข้อมูล โดยข้อมูลจะถูกเก็บในรูปแบบ NFT (Non-Fungible Token) ผ่านมาตรฐาน KAP-721 บนเครือข่าย Bitkub Chain ที่มีคุณสมบัติขั้นต่ำเทียบเท่ากับ ERC-721 ของเครือข่าย Ethereum ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบเอกสารได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจสอบธุรกรรมได้บน BKC Scan สามารถลดขั้นตอนการทำงานในกระบวนการตรวจสอบเอกสารซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรทั้งบุคลากรและเวลาดำเนินการ นอกจากนี้ยังสามารถผลักดันระบบงานเอกสารสู่ความเป็น Paperless ได้
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี ได้ให้ความเห็นว่า ทาง CBS มีความสนใจและมีแนวคิดที่จะนำแพลตฟอร์มมาใช้ในการทำ Mastery Transcript เพื่อรวบรวมข้อมูลพัฒนาการจากการทำกิจกรรมของนิสิต การออกใบประกาศต่างๆ ในโครงการอบรมระดับ Non-Degree ของ CBS และสร้างฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลสำหรับทั้งศิษย์ปัจจุบันและศิษย์เก่าอย่างมีประสิทธิภาพอันก่อให้เกิด Lifelong Learning กับผู้เรียนที่ไม่จำกัดเพียงในประเทศแต่ยังสามารถใช้งานได้ในระดับ Global อีกด้วย
นายกรวิชญ์ ณรงคนานุกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด ได้กล่าวเสริมถึงมุมมองของเครือสหพัฒน์ภายใต้การนำของ บุณยสิทธิ โชควัฒนา ประธานเครือ ที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับ Digital Transformation เป็นอย่างมาก อนึ่ง บริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทภายในเครือ จึงพัฒนา Solutions เพื่อตอบสนองแนวคิดของบุณยสิทธิให้เกิดขึ้นจริงโดยเชื่อว่าโครงการนี้จะทำให้เครือสหพัฒน์จะสามารถคัดเลือกบุคลากรที่มีศักยภาพที่แท้จริงและเหมาะสมต่อองค์กรได้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับและพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป
นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรม Panel Discussion แชร์มุมมองของผู้บริหารจาก Chula Business School และบริษัท ทีพีซีเอกซ์ จำกัดเกี่ยวกับโปรเจกต์ Certifile รวมถึงได้รับเกียรติจาก นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มาร่วมสนทนาและให้ความเห็นถึงประโยชน์ของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและศักยภาพที่จะยกระดับการศึกษาและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากบล็อกเชน โดยมีมุมมองว่าการพัฒนาโครงการที่ถือเป็นปัจจัยพื้นฐานนี้ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมและก้าวเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในเวทีโลก
สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่ และ บิทคับเชน ได้ที่ Website Facebook Medium Twitter Discord และ Telegram