บัญชี จุฬาฯ ติด 1 ในเครือข่าย 100 สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจของโลก
นับเป็นครั้งแรกที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติด 1 ในเครือข่าย 100 สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจของโลก
ผลจากการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งหลักสูตร MBA Chula (Master of Business Administration) ระบบการเรียนการสอน บุคลากร นิสิต การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทันสมัยและนวัตกรรม ตลอดจนงานการวิจัยต่างๆ ทำให้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก้าวไปอีกขั้น
ไม่เพียงครองอันดับหนึ่ง MBA ในประเทศไทยเท่านั้น ยังคว้าสถานะคุณภาพ 3 มงกุฎ หรือ Triple Crown Accreditation ตอกย้ำศักยภาพและมาตรฐานสร้างผู้นำธุรกิจในโลกยุคใหม่
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CBS (Chulalongkorn Business School) เปิดเผยว่า นอกจากการได้รับการรับรองเป็นสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจอันดับหนึ่งในประเทศไทย โดย the QS World University Rankings 2023
ปีนี้ CBS ยังมีสถานะคุณภาพจาก 3 สถาบันหลักด้านการบริหารธุรกิจของโลกคือ AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) จากสหรัฐอเมริกา EQUIS (EFMD Quality Improvement System) จากสหภาพยุโรป และล่าสุด AMBA (Association of MBAs) จากสหราชอาณาจักร ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จเพราะทั่วโลกมีสถาบันอุดมศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับ Triple Crown Accreditation 108 สถาบัน จากกว่า 20,000 แห่ง
ศ.ดร. วิเลิศ และคณาจารย์MBA Chula
“นับเป็นครั้งแรกของสถาบันอุดมศึกษาไทยที่มีการเรียนการสอนทางด้านบริหารธุรกิจที่ได้รับการรับรองคุณภาพ และเป็นอันดับหนึ่งควบคู่กัน ซึ่งการก้าวเข้าไปอยู่เครือข่าย 100 สุดยอดสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจของโลก ทำให้ CBS สามารถขยายพันธมิตรกับสถาบันเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งความร่วมมือด้านวิชาการ การวิจัย รวมไปถึงโครงการแลกเปลี่ยนนิสิต เพื่อยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนด้านบริหารธุรกิจในอนาคต"
ด้าน รศ. ดร. ณัฐพล อัสสะรัตน์ ประธานหลักสูตรธุรกิจมหาบัณฑิต คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า MBA Chula ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ได้ปฏิรูปหลักสูตร เพื่อสร้างผู้นำธุรกิจให้มีความรู้ความสามารถรับมือกับภูมิทัศน์ทางธุรกิจ (Business Landscape) ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ควบคู่ไปกับความมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ (Philanthropic Spirit)
MBA Chula ได้พัฒนาหลักสูตร ทั้งในด้านเนื้อหาวิชา กลยุทธ์ และวิธีการเรียนการสอน โดยมุ่งเน้นสร้างผู้นำธุรกิจที่มีความรู้เชิงนวัตกรรมและความเข้าใจในระดับสากล รวมถึงแนวคิดจริยธรรมธุรกิจและการใส่ใจคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมไทย
บทบาทของ MBA Chula จะไม่ได้สอนแค่ทฤษฎีจากตำราแล้ว แต่ต้องการพัฒนาผู้นำที่มีทักษะครบถ้วน ทั้ง Hard Skills และ Soft Skills
โดยหลักสูตร MBA จะประกอบด้วย 3 เรื่องได้แก่ Global Wisdom with Local Insights, Hands-on Experience, และ Lead Business with Kindness ซึ่งสะท้อนผ่านปรัชญาแห่งการเรียนรู้ใน 5 มิติ คือ Critical Thinking, Creativity, Collaboration, Communication, and Care
รศ. ดร. ณัฐพล กล่าวว่า MBA Chula ได้ปรับวิชาเรียนให้เป็นระบบโมเดล เพื่อให้การออกแบบหลักสูตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ รวมถึงทักษะด้าน Soft Skills
นอกจากนี้ ยังได้เปลี่ยนวิธีการส่งมอบความรู้ เช่น การเรียนรู้จากการทำกรณีศึกษาและประสบการณ์ (Case-based and Experiential Learning) เปลี่ยนจากการทำ Case ในห้องเรียน เป็นการทำ Real Case จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลและแก้ปัญหาของธุรกิจจริง
ส่วนอีกความคิดริเริ่มมีการทำโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต เปิดโอกาสให้ศิษย์เก่า MBA Chula สามารถกลับมาเลือกเรียนในวิชาเลือกพร้อมกับนิสิตรุ่นน้องได้