‘หัวเว่ย’ เปิดอาณาจักร โชว์ปลอดภัยไซเบอร์-ความโปร่งใส ให้สื่อมวลชนเข้าชม
“หัวเว่ย” เปิดอาณาจักรให้สื่อมวลชน เยี่ยมชม “ศูนย์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัว
เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์เพื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใสในด้านการปกป้องความเป็นส่วนตัว ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองต่งกวน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยศูนย์ดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ร่วมกันสำหรับผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่ออำนวยความสะดวกในการประสานงาน การติดต่อสื่อสาร และการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ
โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ให้กับภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั่วโลก
ดังนั้น ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ฯ ของหัวเว่ยจึงมีเป้าหมายเพื่อป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์ ควบคู่กับการกำจัดข้อสงสัยด้านความมั่นคงปลอดภัยและยกระดับความไว้วางใจในแบรนด์หัวเว่ยในระดับโลก ทั้งนี้ การจัดตั้งศูนย์นี้เพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือและพันธมิตรในระดับโลก ขยายความร่วมมือกับลูกค้า คู่ค้าและองค์กรต่างๆ ทั้งทางภาครัฐและเอกชน เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ไปทั่วโลก โดยศูนย์ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ ห้องปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์แบบอิสระ ซึ่งมีแฮกเกอร์สายหมวกขาว จำนวน 200-300 คน ทำหน้าที่ตรวจสอบความมั่นคงปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของบริษัท ก่อนนำออกไปวางจำหน่ายและใช้งาน
นายสุรชัย ฉัตรเฉลิมพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว ตัวแทนบริษัทหัวเว่ย ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันภัยคุกคามทางไซเบอร์โดยส่วนใหญ่ ได้แก่ แรนซัมแวร์ การโจมตีแบบ DDoS แอปพลิเคชั่นที่แอบฝังมัลแวร์ ฟิชชิ่ง การโจมตีช่องโหว่ของซอฟต์แวร์ การโจมตีช่องโหว่ในระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง รวมไปถึงการโจมตีผ่านอุปกรณ์ IoT ต่างๆ เป็นต้น
"ความจริงแล้ว ภัยไซเบอร์ที่คนไทยกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นแกงค์คอลเซนเตอร์ แอปฯ ดูดเงิน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคนจีนมานับสิบปีแล้ว และเกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง โดยที่ผ่านมาจีนได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน และมีการบังคับใช้กฎหมายที่ค่อนข้างแรง ควบคู่ไปภาคสังคมที่มีการให้ความรู้กับประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงวัยและเด็ก” นายสุรชัย กล่าว
พร้อมระบุว่า สำหรับประเทศไทย ความตื่นตัวทางภัยไซเบอร์ไม่ได้แย่เลย จากการจัดอันดับของ Global Cybersecurity Index อยู่อันดับที่ 44 จาก 180 ประเทศ (ปี 2020) แต่สิ่งที่ไทยได้คะแนนน้อยและต้องปรับตัวคือ กฎหมายไทยที่ต้องปรับให้ทันภัยไซเบอร์ใหม่ๆ และบุคลากรไซเบอร์ที่ยังขาดแคลนอยู่มาก ขณะเดียวกัน เชื่อว่า หากมีการอันดับอีกครั้ง คะแนนกฎหมายอาจเพิ่มขึ้น เพราะกฎหมาย PDPA บังคับใช้แล้ว และมี พ.ร.บ. ไซเบอร์แล้ว
นายสุรชัย ยังเปิดเผยถึงความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับทางการไทยด้วยว่า หัวเว่ยได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) พัฒนาทักษะบุคลากรทางด้านดิจิทัลและลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมการแข่งขันด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยมีจำนวนบุคลากรทางด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนจำนวนบุคลากรทางด้านดิจิทัลให้กับประเทศไทยและยังช่วยผลักดันประเทศไทยสู่เป้าหมายในการขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ หัวเว่ย ยังทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยทุกชิ้นที่นำเข้ามายังประเทศไทยมีการดำเนินการสอดคล้องตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) และทุกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
สำหรับการเดินทางมาครั้งนี้ สื่อมวลชนยังได้เยี่ยมชมโซลูชั่นต่างๆ ที่น่าสนใจ อาทิ Smart City ที่ใช้ข้อมูลจากอุปกรณ์ IoT และระบบเซ็นเซอร์ที่อยู่รอบๆ เมืองเสินเจิ้น การแสดงระบบแดชบอร์ดแผนที่เรียลไทม์ ให้เห็นว่าเมืองมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มองเห็นขนาดที่ว่าจุดไหนของถนนที่มีปัญหาขยะล้นเกิน , ไลน์การผลิตสมาร์ทโฟน และมีพื้นที่สาธิตแผงโซล่าร์ด้วย แต่ทั้งหมดนี้ทางหัวเว่ยไม่อนุญาตให้สื่อเข้าบันทึกภาพได้ เพราะถือเป็นความลับขององค์กร
จากนั้น สื่อฯ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยพัฒนา ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “หมู่บ้านเขาวัว” หรือ “Huawei Ox Horn Campus” แคมปัสใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ริมทะเลสาบซงซาน โดยได้เปิดปฏิบัติการมาตั้งแต่ปี 2018 บนพื้นที่ 1.4 ล้านตารางเมตร ภายในเป็นสถานที่ตั้งของอาคารทรงยุโรป ที่หัวเว่ยได้จำลองเมืองชื่อดังในยุโรปเอาไว้ในอาณาจักรแห่งนี้ถึง 12 เมือง เพื่อรองรับการทำงานของพนักงานฝ่ายการวิจัยและพัฒนาในนั้นกว่า 25,000 คน พร้อมกับสร้างระบบรางรถไฟของตัวเอง เพื่อการเดินทางภายในแคมปัสแห่งนี้ ซึ่งมีการออกแบบรถไฟจากสวิตเซอร์แลนด์มาวิ่งให้บริการเชื่อมกันในแต่ละโซน ทั้งนี้ เหตุผลที่หัวเว่ยทุ่มทุนสร้างอาณาจักรแห่งนี้ด้วยเม็ดเงินมหาศาล ก็หวังสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสภาพแวดล้อมดีๆ ให้กับพนักงานได้ทุ่มเททำงานได้อย่างเต็มที่นั่นเอง ที่น่าสนใจ พนักงานที่นี่ ไม่ต้องแสกนบัตรเข้าทำงาน เพราะเขาจะมีเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าของพนักงานทุกคนและบันทึกข้อมูลการเข้าทำงานแบบอัตโนมัติ ซึ่งปัจจุบัน “หัวเว่ย” มีพนักงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์กว่า 3,800 คน ประจำอยู่ภายในศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และความโปร่งใส ที่เมืองต่งกวน แห่งนี้
แต่น่าเสียดาย สำหรับใครที่คิดจะเข้าเยี่ยมชมความสวยงามของสถานที่แห่งนี้ ต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะอาณาจักรของหัวเว่ยแห่งนี้ไม่ได้เปิดให้บุคคลภายนอกหรือนักท่องเที่ยวเข้าไปเยี่ยมชมได้