'บ้านธรรมชาติล่าง' ร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ โมเดลต้นแบบสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน
"บ้านธรรมชาติล่าง" ร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ ยกระดับชุมชนเล็กๆ สู่การเป็น "วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด" อีกหนึ่งโมเดลต้นแบบสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
ต้นทุนทางธรรมชาติที่สวยงาม ประกอบกับชาวชุมชน "บ้านธรรมชาติล่าง" ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด มองเห็นโอกาสของพื้นที่ตั้ง แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ล้อมรอบด้วยหุบเขาและอีกด้านติดทะเลอ่าวไทย แต่ที่นี่เป็นทางผ่านของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มีจุดหมายสู่ เกาะช้าง เนื่องจากมีท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามไปยังเกาะช้างอยู่ใจกลางหมู่บ้าน
ชาวชุมชนบ้านธรรมชาติล่างส่วนใหญ่ มีอาชีพทำประมงพื้นบ้านและเกษตรกรรม วิถีการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างเรียบง่าย แต่มีอัตลักษณ์ในหลายๆ ด้าน อาทิ วิถีชีวิตชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหารพื้นบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตลักษณ์ของการเป็นชุมชนที่มีการรวมตัวกันด้วยความเข้มแข็ง พร้อมที่จะรับฟังและเปิดรับโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา
ตลอดเส้นทางของการยกระดับจากชุมชนเล็กๆ สู่การเป็น "วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง จ.ตราด" ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่เข้าไปดำเนินกิจการโรงเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออกในพื้นที่มาเป็นเวลานาน จนเรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และดูแลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ไม่ต่างไปจากการเป็นลูกหลานที่ต้องตอบแทนคุณให้กับพื้นที่บ้านเกิด
ซีพีเอฟ เข้ามาดำเนินธุรกิจในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เดินหน้าเติบโตไปพร้อมกับการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ต่อยอดสู่การส่งเสริมให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการปุ๋ยอินทรีย์นาโน ช่วยแก้ไขปัญหาการใช้สารเคมีในภาคการเกษตรของชุมชน ซึ่งเกิดจากแนวคิดการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่ฟาร์มทำใช้เองมาพัฒนาร่วมกับผู้นำชุมชน กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้
จากจุดเริ่มต้นเรื่องปุ๋ยเพื่อชุมชน "ซีพีเอฟ" เล็งเห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำชุมชนและทุนทางธรรมชาติของ บ้านธรรมชาติล่าง มีทั้งสวนผลไม้ที่ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยเพิ่มผลผลิต ผนวกกับวิถีประมงพื้นบ้าน และยังมีทะเลสวยที่ชายหาดมีความพิเศษด้วยหินลาวา เกิดเป็นหาดทรายแดง รวมถึงปะการังน้ำตื้น มีวิวหลักล้านที่ล้อมรอบด้วยภูเขา เมื่อเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวที่ต้องผ่านไป เกาะช้าง อยู่แล้ว บริษัทฯ จึงอาสาเข้ามาผสานพลังกับชุมชน ขีด คิด ร่วมข่าย จัดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ภายใต้ชื่อ "โครงการปุ๋ยอินทรีย์นาโน สู่การท่องเที่ยว" และผลักดันสู่การขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่
ด้วยพลัง 3 วัย วัยเก๋า วัยรุ่น และวัยเด็ก ที่ช่วยกันนำจุดแข็งของแต่ละวัยมาใช้ ผนวกกับความเข้มแข็งของผู้นำ และพลังของคนรุ่นใหม่ที่รักบ้านเกิดมาร่วมกันผลักดันกับทีมงานของ ซีพีเอฟ จึงเกิดโครงการเชื่อมโยงอีกหลากหลายโครงการ อาทิ "โครงการน้ำดื่มชุมชน" จากโรงงานน้ำดื่มที่ต้องปิดตัวลงเพราะขาดองค์ความรู้ "ซีพีเอฟ" ได้นำความเชี่ยวชาญไปถ่ายทอดและสร้างมาตรฐานใหม่ เกิดการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ขยายกำลังการผลิตน้ำดื่มรองรับการท่องเที่ยว ปัจจุบันมีสมาชิกถือหุ้น 142 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลประโยชน์ถึง 2,582 คน รายได้เกือบล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ยังมี "โครงการนวัตกรรมถังหมักรักษ์ดิน" เพื่อแก้ไขปัญหาขยะอย่างยั่งยืน ที่ขยายผลสำเร็จจากฟาร์มเพาะฟักลูกกุ้งภาคตะวันออก ไปยังศูนย์เพาะฟักลูกกุ้งของซีพีเอฟทั้งในไทยและต่างประเทศ นำไปสู่การขยายการจัดการขยะสู่ชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะชุมชน กลายเป็นโมเดลต้นแบบ Waste to Value ที่สอดคล้องกับนโยบายของจังหวัด "โครงการบ้านสะอาด เมืองตราด สวยสะหงาด"
อีกหนึ่งไฮไลต์ที่กลายเป็นกิจกรรมยอดนิยมของนักท่องเที่ยวคือ "โครงการผ้าสามป่า อ.แหลมงอบ" ผลิตภัณฑ์ผ้าประจำพื้นถิ่นของ จ.ตราด ที่ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาผ้าสามป่า ทั้งป่าชุมชน ป่าสมุนไพร ป่าชายเลน ขยายผลสู่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว อาทิ เสื้อสามป่า แก้ว กระเป๋า ตุ๊กตา สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ชุมชน ต่อยอดสู่การจำหน่ายผ่านออนไลน์ สื่อโทรทัศน์ ออกร้านจำหน่าย โครงการนี้สร้างรายได้ถึง 800,000 บาท ในเวลา 2 ปี มีรายได้เสริมครอบครัวละ 5,000 บาท ปัจจุบันมีสมาชิก 30 ครัวเรือน และผ้าสามป่ากลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด ได้รับโอกาสขึ้นโชว์บนเวทีประกวด Miss Grand Trat 2023 ที่ผ่านมา
วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง เป็นต้นแบบของโครงการที่สร้างความภาคภูมิใจสู่จังหวัด สะท้อนความสำเร็จที่เกิดจากการอาศัยจุดแข็งและประสบการณ์ของภาคเอกชนที่เข้าดำเนินธุรกิจในพื้นที่ ทำงานร่วมกับคนในพื้นที่ เพื่อสร้างประโยชน์ ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม สร้างคุณค่าร่วมทางสังคม โดย ณ สิ้นปี 2566 ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์มากกว่า 5 ล้านบาท ด้านสังคม ช่วยสร้างคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้ชุมชนที่มีสมาชิก 21,757 คน ด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะได้เฉลี่ยปีละ 5 ตัน เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ Upcycling
ผลสัมฤทธิ์และความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้ในรอบปี 2565-2566 มีรางวัลที่ชุมชนได้รับจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ รางวัลการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ระดับประเทศ รางวัลอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) การประกวดนวัตกรรมโครงการ NIA รางวัลผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ จากกระทรวงมหาดไทย รางวัลผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมสามป่า ผลิตภัณฑ์ "ดี" ระดับจังหวัด วิสาหกิจชุมชนดีเด่น จ.ตราด มาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (STGs) และล่าสุด ยังรับรางวัลสูงสุด จากการจัดประกวดโครงการด้านความยั่งยืน (Sustainability) ของซีพีเอฟทั่วประเทศ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เป็นคณะกรรมการร่วมตัดสิน
วันนี้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ไม่ใช่ชุมชนทางผ่านอีกต่อไป แต่ที่นี่ คือ ชุมชนแห่งรอยยิ้ม ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ จากความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ เพื่อผลักดันให้วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่างเติบโตได้อย่างยั่งยืน