ม.มหิดลเปิดตัว “นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” อธิการบดีคนใหม่

ม.มหิดลเปิดตัว “นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” อธิการบดีคนใหม่

มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวอธิการบดีคนใหม่ “นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา” ชูกลยุทธ์ “MU Synergy” มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านการศึกษาและวิจัยระดับโลกที่สร้าง “Real World Impact”

มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตัวอธิการบดีใหม่ “นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา” และคณะผู้บริหาร ชูกลยุทธ์           “MU Synergy” มุ่งเน้นต่อยอดความสำเร็จทางการศึกษาและวิจัยไปสู่ผลสำเร็จ Real World Impact           ทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม 

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา ได้เข้ารับตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมคณะผู้บริหารชุดใหม่ พร้อมประกาศวิสัยทัศน์ และทิศทางการทำงานใหม่        

มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ด้านวิจัย ด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม   ในภูมิทัศน์โลก

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร  กล่าวว่า ทิศทางการบริหารงานใน 4 ปีข้างหน้าของมหาวิทยาลัยมหิดล คือการมุ่งเน้นการต่อยอดการศึกษาและวิจัยไปสู่ผลสำเร็จ          ใน Real World Impact ในด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science) และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแบบองค์รวม (Holistic well being) ในระดับโลก

โดยใช้จุดแข็งที่สำคัญของมหาวิทยาลัย คือความเชี่ยวชาญที่ครบถ้วนในสหสาขาวิชา มุ่งเน้นการสร้างกลไกในการเชื่อมโยงและกำหนดทิศทางประสานความร่วมมือทั้งด้าน สานภารกิจวิจัย (Synergy Research) เพิ่มอำนาจผู้เรียน (Empowering Learners) และขยายผลสัมฤทธิ์ (Amplifying Operation)

สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs) และความท้าทายใหม่ อาทิ การเปลี่ยนแปลง   ของโลกด้านสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัล ผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ช่องว่างระหว่างช่วงวัย

“เราจะต่อยอดความสำเร็จทางการศึกษาโดยมุ่งเน้นการจัดการศึกษาและงานวิจัยที่เป็น Real World Impact และ Academic Impact บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องมุ่งที่การสร้างผลกระทบเชิงบวกในโลกความจริง บนแนวทางการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมทั้งในระดับประเทศและระดับโลก” 

สำหรับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และตำแหน่งสำคัญ อาทิ

ประธานบอร์ดศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ประธานบอร์ดศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)       กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ผู้อำนวยการศูนย์หัวใจหลอดเลือดและเมแทบอลิซึม ในด้านงานวิจัยยังเคยได้รับรางวัลเมธีวิจัย อาวุโสประจำปี 2551 อีกด้วย