ชมภาพ ในหลวง พระราชินี เสด็จออกทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี ผู้แทนประเทศ คู่สมรส แขกพิเศษ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินและเดินทางมาเยือนไทย ร่วมประชุมเอเปค
ชมภาพ ในหลวง พระราชินี เสด็จออกพร้อมด้วย เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี ผู้แทนประเทศ แขกพิเศษ คู่สมรส เฝ้าฯ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินและเดินทางมาเยือนไทย ร่วมประชุมเอเปค
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 เวลา 17.46 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จออกพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงรับพระประมุข ประธานาธิบดี และพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกรัฐมนตรี และผู้แทนประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรส เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท
ในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน และเดินทางมาเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก หรือ เอเปค (Asia - Pacific Economic Cooperation : APEC) ครั้งที่ 29 ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจ และแขกพิเศษ พร้อมด้วยคู่สมรสเอเปค (Asia - Pacific Economic Cooperation) หรือ “ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก” เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุน การรวมตัวทางเศรษฐกิจ
รวมทั้งความร่วมมือด้านวิชาการและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสมาชิก ซึ่งตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 โดยมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง จำนวน 12 ประเทศ ประกอบด้วย เครือรัฐออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย และสหรัฐอเมริกา
ต่อมามีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 9 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนไทเป สหรัฐเม็กซิโก รัฐเอกราชปาปัวนิวกีนี สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐเปรู สหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ปัจจุบันเอเปคจึงมีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ
ในปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ครั้งที่ 29 โดยให้ความสำคัญกับการปรับตัวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 อย่างครอบคลุม สมดุล และยั่งยืน โดยกำหนดหัวข้อหลักคือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open Connect Balance) เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผ่านมุมมองใหม่ที่ได้เรียนรู้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วนในสังคม สร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
อนึ่ง ประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ การประชุมเอเปคครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 10-11 กันยายน 2535 และการประชุมเอเปคครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 20-21 ตุลาคม 2546 โดยในการประชุมเอเปคครั้งที่ 4 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออก ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต
พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ หัวหน้าคณะผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2535 และในการประชุมเอเปคครั้งที่ 11 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง
พร้อมด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงรับ ผู้นำเขตเศรษฐกิจในโอกาสเดินทางมาเข้าร่วมการประชุมเอเปค เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2546