พระปรีชาด้านภาษา ใน "กรมสมเด็จพระเทพฯ"
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงอุทิศพระองค์ ประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ ซึ่งการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างโอกาสให้แก่ราษฎร เข้าถึงความรู้ด้านต่างๆ อันนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ทรงเป็นที่ประจักษ์ ในผลงานด้านวรรณกรรม นับตั้งแต่ทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา โดยปี พ.ศ. 2516 พระราชนิพนธ์ร้อยกรองเรื่องกษัตริยานุสรณ์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงใช้เค้าโครงจากเรื่องไทยรบพม่า พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จากนั้นขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชนิพนธ์หนังสือเรื่อยมา เช่น หนังสือพระราชนิพนธ์สารคดีชุดเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ หนังสือพระราชนิพนธ์ทั่วไป หนังสือพระราชนิพนธ์บทกวี หนังสือพระราชนิพนธ์แปล หนังสือร่วมพระราชนิพนธ์ หนังสือพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับโรงเรียนตำรวจตระเวณชายแดน มากกว่า 100 เล่ม ล้วนเป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเหล่านั้น นำมาพระราชทานแก่นักเรียนและนักศึกษาทั้งสายอาชีวะและสายสามัญที่ขาดแคลนทุนทรัพย์มาโดยตลอด
ครั้งหนึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปาฐกถาในวาระครบรอบ 60 ปี การสถาปนาคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อศิลป์และศาสตร์แห่งงานแปลต้นฉบับที่มีบริบททางวัฒนธรรม ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยสถานีโทรทัศน์ต่างๆ เผยแพร่พระราชดำรัส ใจความสรุปว่า
ในการแปลงานต้นฉบับที่มีบริบททางวัฒธรรม ทรงกล่าวถึงการแปลที่ทรงศึกษาว่า มีหลายวิธีหลายรูปแบบ การแปลทำให้ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทำให้รู้จักภาษาและสามารถนำมาใช้ในการแปลได้ ทรงยกตัวอย่างบทกวีและบทกลอนที่ทรงแปลและจัดพิมพ์เป็นหนังสือ เช่น บทกวีจีนและหนังสือเรื่องขบวนการนกกางเขน
ส่วนความรู้เป็นสิ่งที่เรียนไม่หมด เรียนรู้ได้อยู่เสมอ ที่สำคัญต้องมีความรู้รอบด้าน ทั้งศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมควบคู่ไปด้วย ทั้งทรงกล่าวถึงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นตัวอย่างการแปลที่ทรงคุณค่าตราบถึงปัจจุบัน
"ตอนที่เรียนภาษาจีนช่วงแรก มีปัญหาบ้าง เพราะจะต้องตามเสด็จ ไปทำงานตามต่างจังหวัด เช่นไปเชียงใหม่ แล้วก็ไปอยู่นาน ครูไม่ได้ตามไปด้วย จึงส่งบทกวีสมัยราชวงศ์ถังให้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เพราะว่าคุณครูไม่รู้ภาษาไทย แล้วก็ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ทำการบ้านเสร็จก็ส่งไปกรุงเทพฯ ผิดถูกครูก็แก้ไขให้ แล้วอธิบายเพิ่มเติม กลับมาก็ค่อยว่ากันทีหลัง
การแปลนั้นต้องเรียนภาษาต่างๆ นี่ทำให้ชีวิตยุ่งยากมาก ทั้งนี้หลายคนอาจคิดอย่างนี้ แต่ว่าไม่นับคนที่ชอบการแปล ซึ่งถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่สนุก เขามีความสุขที่ได้ทำอย่างนั้น" สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งถึงงานพระราชนิพนธ์ของพระองค์
ไม่เพียงแต่ทรงให้ความสำคัญในงานแปลภาษา ทุกๆ ปี สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ" และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในการนี้ทรงมีพระราชดำรัสแก่ผู้ที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อให้ตระหนักถึงคุณค่าของการอ่านหนังสือ ใจความตอนหนึ่งว่า
หนังสือเป็นเครื่องมือศึกษาความรู้ด้วยตัวเอง เป็นการบ่มเพาะความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น ช่วยพัฒนาจิตใจและเชาว์ปัญญา สร้างแรงจูงใจในการทำความดี กระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น
นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงส่งเสริมการอ่านแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า รวมไปถึงผู้ต้องขังที่อยู่ภายในเรือนจำ ทัณฑสถานทั่วประเทศ มีพระราชดำริเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ด้านต่างๆ
“ห้องสมุดพร้อมปัญญา” เป็นนามพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สำหรับห้องสมุดเรือนจำ โดยกรมราชทัณฑ์ ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2546 เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสทรงเจริญพระชนมมายุ 48 พรรษา และสนองพระราชดำริในการส่งเสริมประชาชน มีโอกาสเข้าถึงหนังสือ อ่านออกเขียนได้
ทั้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังเรือนจำพิเศษพัทยา อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ทรงเปิดห้องสมุดพร้อมปัญญา ในพื้นที่แดนการศึกษาในเรือนจำดังกล่าว โดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เข้ามาพัฒนาระบบลงทะเบียนยืมคืนหนังสือ ให้คำปรึกษาในการพัฒนารูปแบบและจัดทำห้องเก็บหนังสือ
รวมทั้งฝึกสอนทักษะซ่อมแซมหนังสือด้วยการเย็บกี่ ซึ่งเป็นการสนองพระราชดำริในการอนุรักษ์การซ่อมแซมหนังสือแบบโบราณ ซึ่งภายในห้องสมุดพร้อมปัญญา นอกจากจะมีหนังสือทั่วไปมากกว่า 12,000 เล่ม แล้วยังมีหนังสือนวนิยาย เรื่องสั้นและมุมหนังสือภาษาต่างประเทศ สำหรับผู้ต้องขังชาวต่างชาติอีกด้วย