สืบสานงานหัตถศิลป์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นในการสืบสาน รักษาและต่อยอด พระราชปณิธานสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในด้านงานศิลปหัตถกรรมไทย
"ข้าพเจ้ามีความตั้งมั่นที่จะสนองพระเดชพระคุณพระมหากรุณาธิคุณ ในการสืบสานรักษาและต่อยอดพระราชปณิธานแห่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เหมือนดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษาและต่อยอดและแผ่ขยายพระบารมีแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถและสมเด็จพระบรมราชชนนี”
ใจความตอนหนึ่งของพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดงานวันสตรีไทยประจำปี 2562 ณ เมืองทองธานี สะท้อนพระราชปณิธานในการทรงงานด้านหัตถศิลป์ของไทย เป็นที่ประจักษ์สืบมา โดย ภาวี โพธิ์ยี่ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) เล่าถึงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงให้การสนับสนุน ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่งานศิลป์แห่งแผ่นดิน ต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ราษฎร
"เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานอัตลักษณ์แห่งสยามครั้งที่ 14 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ทรงมีความสนพระราชหฤทัยงานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย ล้วนแล้วแต่เป็นสมบัติของชาติ ซึ่งทางสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) รวบรวมไว้แล้วนำมาจัดแสดงในงานดังกล่าว
โอกาสนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทอดพระเนตรนิทรรศการ รวมทั้งการสาธิตกระบวนการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย มีพระราชปฏิสันถารกับครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมอย่างเป็นกันเอง กระทั่งเสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรการสาธิตงานเครื่องเงินยัดลายของจังหวัดเชียงใหม่ มีรับสั่งกับทายาทช่างศิลปหัตถกรรมว่า
“เป็นลูกครู ทำมาต่อจากคุณพ่อคุณแม่ ให้ช่วยกันรักษาไว้ แล้วจะไปช่วยส่งเสริมให้ทั่วถึง”
พระองค์ทรงห่วงทุกคนที่ทำงานด้านอัตลักษณ์ไทย มีพระราชประสงค์ช่วยเขาเหล่านั้น ให้มีอาชีพ มีรายได้ จะได้มีนักสร้างสรรค์ศิลปหัตถกรรม และยังเป็นการรักษามรดกของชาติ ที่ผ่านมาทรงให้การสนับสนุนงานหลากหลายประเภท"
ที่ประจักษ์ชัดคือ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ฉลองพระองค์ด้วยชุดไทยพระราชนิยมสำหรับงานพระราชพิธีต่างๆ รวมถึงฉลองพระองค์ผ้าไทยที่มีดีไซน์ร่วมสมัย
"การแต่งกายในงานพระราชพิธี มีข้อกำหนดมาแต่โบราณ ซึ่งรูปแบบฉลองพระองค์ที่เราเห็นกันบ่อยๆ คือ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยจิตรลดา เป็นเครื่องแต่งกายในงานสำคัญ จะเห็นได้ว่า ชุดเหล่านั้นตัดเย็บด้วยผ้าทอ เทคนิคชั้นสูงตามแบบราชสำนัก มีโทนสีหลากหลาย บางสีน้อยครั้งที่ประชาชนมีโอกาสได้เห็น
ส่วนพระราชกรณียกิจในการเสด็จพระราชดำเนินทรงงานทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด พระองค์ท่านทรงแต่งชุดผ้าไทยที่มีลวดลายประจำท้องถิ่นสะท้อนอัตลักษณ์ภูมิภาคต่างๆ อาทิ ผ้ากาบบัวจังหวัดอุบลราชธานี ผ้าสมปักปูมจังหวัดสุรินทร์ ผ้าบาเต๊ะ ผ้าบาติกของพี่น้องชาวใต้ที่งดงาม ก่อให้เกิดการฟื้นฟูการย้อมสี ทอผ้า หรือเพ้นท์ลายด้วยเทคนิคโบราณ ภายใต้โทนสีที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ
แม้แต่การเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอัตลักษณ์แห่งสยามเมื่อไม่นานมานี้ พระองค์ท่านฉลองพระองค์ด้วยผ้าแพรวาจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ทรงแวะไปที่บูธของครูทอผ้า แล้วตรัสว่า
“วันนี้ใส่มาเป็นกำลังใจ”
นับเป็นความปลื้มปีติหาที่สุดมิได้ อีกทั้งพระองค์ท่านมีพระราชประสงค์ เสด็จพระดำเนินทอดพระเนตรกระบวนการสร้างสรรค์งานแบบลงลึก รับสั่งกับครูช่างศิลปหัตถกรรมว่า
"กว่าจะเป็นงานหนึ่งชิ้น ใช้เวลาทำนานเท่าไหร่ กว่าจะมีรายได้นานไหม"
จากนั้น ทรงทดลองทำงานศิลปหัตถกรรมด้วยพระองค์เอง ทรงทอผ้าไหมยกทองโบราณกับกลุ่มจันทร์โสมา จังหวัดสุรินทร์ ตรัสกับช่างทอผ้าและอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เกี่ยวกับวิธีการทอผ้าด้วยกี่ขนาด 2,500 ตะกอ เป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้เครื่องมือทางวิศวกรรมขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน"
จากนั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระดำเนินถึงบูธของครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2565 โดยมีรัชพล เต๋จ๊ะยา เฝ้าฯ รับเสด็จ และกราบบังคมทูลถวายรายงานว่า กำลังจะไปแข่งขัน Innovation 2023 ที่ประเทศโปแลนด์ เป็นงานประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์นานาชาติเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า นำความเป็นไทยไปอวดชาวโลกด้วยงานศิลปะกระจกเกรียบ ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พระราชทานพรว่า
“ขอให้มีชัยชนะกลับมา แล้วนำรางวัลมาอวดด้วย”
พรที่ได้รับมานั้น เป็นขวัญกำลังใจแก่ครูช่างเป็นอย่างมาก ทรงเป็นแบบอย่างและสร้างแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นใหม่เห็นว่า ประเทศเรามีองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์มากมาย สามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ เช่น งานกระจูด ปัจจุบันได้รับการสืบทอดต่อโดยคนรุ่นลูกรุ่นหลาน นำเทคนิคการสานกระจูดมาผสานเข้ากับงานปัก เป็นรูปสุนัขและแมวให้ดูน่าสนใจ ในการนี้ พระองค์ท่านมีรับสั่งกับทายาทช่างศิลปหัตถกรรมว่า
“ทำต่อไป และขอให้ขายดี”
ส่วนงานจักสานย่านลิเภา เป็นอีกงานหนึ่งที่ทรงให้การสนับสนุน เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าชาร์ลที่ 3 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ฉลองพระองค์ด้วยชุดผ้าไทย ทั้งแบบร่วมสมัยและชุดไทยบรมพิมานและทรงถือกระเป๋าย่านลิเภา เป็นที่ประจักษ์แจ้งถึงความงดงามแก่ผู้คนทั่วโลก รับสั่งอีกว่า
"รู้สึกดีใจ อยากเป็นคนช่วยให้ชาวบ้านได้ขายของมากขึ้น"
สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ ทรงตั้งพระราชหฤทัยมั่นในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สืบสานงานศิลปหัตถกรรมของไทย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน