รู้จัก 'หมอถนน-หมอคน-หมอรถ' ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9
วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 'กรุงเทพธุรกิจ' ชวนทำความรู้จักกับตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร หน่วยงานก่อตั้งขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในเขตกรุงเทพมหานคร
ย้อนไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ.2536 พล.อ.เทียนชัย จั่นมุกดา รองสมุหราชองครักษ์เชิญ พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ยศขณะนั้น) ไปพบที่กรมราชองครักษ์ สวนจิตรลดาและแจ้งให้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ละ 4 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8 ล้านบาท เพื่อใช้ในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่สายตรวจจราจร ซื้อวิทยุสื่อสาร และเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงตำรวจ และรวมทั้งค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
รวมทั้งพระราชทานพระบรมราโชบาย 5 ข้อ ได้แก่ 1.แสวงหาแนวทางให้ผู้ใช้รถใช้ถนน เคารพกฎจราจรและมีมารยาท 2.ใช้รถจักรยานยนต์เป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วไปแก้ไขปัญหายังจุดที่รถติด เปรียบเสมือนกับรถนำขบวน โดยเมื่อขบวนรถจักรยานยนต์จะเข้าไปแก้ไขปัญหาทำให้รถในขบวนเคลื่อนที่ไปได้ ซึ่งรถในถนนมีหลายขบวนก็เช่นเดียวกัน
3.ให้รถจักรยานยนต์ดูแลการจราจรในถนน ให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ ตามความเหมาะสม 4.ถนนที่เป็นคอขวดให้รถจักรยานยนต์เข้าไปแก้ไขปัญหาให้รถเคลื่อนตัวไปได้เรื่อยๆ เปรียบเสมือนเทนํ้าออกจากขวด และให้ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจราจร
"ตั้งแต่ก่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ปฏิบัติงานยึดหลักการทำงานสอดคล้องตามแนวพระราชดำริ คือช่วยเหลือประชาชน คนเจ็บ คนป่วย แบ่งงานออกเป็นหมอถนน หมอคน หมอรถ" พ.ต.ท.ไพฑูรย์ คตกฤษณ์ รองผกก.6 บก.จร. กล่าวถึงภารกิจของตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เวลาตีห้าครึ่งของทุกวันไปจนถึงดึกดื่น
"หมอถนน เป็นชุดมอเตอร์ไซค์เคลื่อนที่เร็ว ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการจราจรเพื่อให้เกิดความคล่องตัว ชั่วโมงเร่งด่วนมีกำลังพลไปประจำจุดหน้าโรงเรียนในเขตกรุงเทพชั้นใน ช่วงเช้าและเย็นเป็นเวลาเร่งด่วนที่ผู้ปกครองจอดรถรับส่งบุตรหลาน รวมทั้งช่วงเวลาเลิกงาน คนเดินทางกลับบ้าน มีชุดจิตอาสาคอยอำนวยความสะดวกให้กับคนข้ามถนนด้วย
ส่วนหมอคน เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว กรณีมีอุบัติเหตุหรือทางเราได้รับวิทยุแจ้งที่บก.02 สายด่วน 1197 พวกเราจัดชุดปฏิบัติการให้ไปถึงที่หมายโดยเร็ว เพื่อปฐมพยาบาล และนำคนเจ็บ คนป่วยส่งโรงพยาบาล เกิดจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้ง พล.ต.ท.จำลอง เอี่ยมแจ้งพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ยศในขณะนั้น) ถวายรายงานเกี่ยวกับโครงการพระราชดำรินี้ ทรงติดตามความคืบหน้าและมีรับสั่งว่า
“เมื่อเจอคนเจ็บ จะทำยังไงให้คนเจ็บไปถึงโรงพยาบาลเร็วที่สุด”
ในการนี้ มีพระราชกระแสทรงห่วงใยและมีพระบรมราชวินิจฉัยให้ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ นำคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด นอกจากนี้ยังมี หมอรถ เป็นชุดตำรวจช่าง เมื่อแรกเริ่มยังไม่มีส่วนนี้ พอเกิดเหตุรถเสีย กีดขวางการจราจร ทำให้รถติดยาว ถ้าเราสามารถเคลื่อนรถออกไปได้ ปัญหาก็จะคลี่คลายเร็ว"
ที่ผ่านมา ผลความสำเร็จนับตั้งแต่ก่อตั้งตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร ปีพ.ศ. 2536 ถึงวันที่30 ก.ย.2566 ช่วยเหลือประชาชนนำผู้ป่วยบาดเจ็บส่งโรงพยาบาล 16,137 ครั้ง นำหญิงใกล้คลอดส่งโรงพยาบาล 3,490 ครั้ง อุบัติเหตุจราจร 7,827 ครั้ง ช่วยทำคลอดฉุกเฉิน 279 ครั้ง ปลดเบรกล็อก 1,509 ครั้ง รถจอดเสีย 14,296 ครั้ง อื่นๆ 963 ครั้ง
"ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับกฎหมายเบื้องต้น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยกองบังคับการตำรวจจราจร ทีมแพทย์จากสภากาชาดไทย วิทยาลัยพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลศิริราช มาเป็นวิทยากรให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง ในรถของเจ้าหน้าที่ทุกคน มีแอลกอฮอลล์ฆ่าเชื้อโรค น้ำเกลือล้างแผล ถุงมือ ผ้าก๊อซ ผ้ายืดสำหรับห้ามเลือด เวชภัณฑ์อื่นๆ ใส่กล่องดำท้ายรถไว้เสมอ ซึ่งเคสแรกๆ ช่วยทำคลอดฉุกเฉินในรถเก๋งจอดตรงแยกดินแดง ตกใจทำอะไรไม่ถูกวิ่งไปวิ่งมา ตั้งสติได้ก็ทำการช่วยชีวิตอย่างที่เราเคยฝึกอบรม" ร.ต.ท.มานะ จอกโคกสูง รองสารวัตรจราจรตามโครงการพระราชดำริ กก.6 บก.จร. ผู้ปฏิบัติหน้าที่มากว่า 27 ปี กล่าว
วินาทีที่ความเป็นความตายอยู่ใกล้กัน ผู้หมวดมานะเล่าถึงเคสเด็กหมดสติอยู่บนรถยนต์ที่พ่อของเขากำลังพาไปส่งโรงพยาบาล
“ช่วงบ่ายสามโมง การจราจรหนาแน่นมาก ได้รับแจ้งเหตุว่ามีเด็กหมดสติอยู่ในรถ เราตรวจดูว่าเป็นรถคันไหน ก็ตามไปช่วยปั้มหัวใจ พอมีสัญญาณชีพจร มีอาการตอบสนองทางร่างกาย ก็รีบบึ่งรถนำทางไปส่งโรงพยาบาล ถึงที่หมายแล้วพ่อของเด็กคนนี้ ก้มกราบเท้าพวกผม ตกใจมาก ทำตัวไม่ถูกเลย”
อีกเคสหนึ่ง เมื่อไม่นานมานี้ พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ รองผบก.จร.(จ.6) และคณะ ปฏิบัติภารกิจนำอวัยวะหัวใจดวงที่ 76 จากสนามบินสุวรรณภูมิส่งไปยังโรงพยาบาลศิริราช
"วันนั้นสภาพอากาศแย่ แต่ทุกฝ่ายร่วมมือกัน ทางท่าอากาศยานให้จุดจอดเครื่องบินใกล้ที่สุด ศูนย์อำนวยการจราจรหาทางลัดออกมาจากพื้นที่สนามบินจนถึงมอเตอร์เวย์ ทางด่วน ถนนพื้นราบ กราบขอบพระคุณผู้ร่วมทางบนถนนในวันนั้น ช่วยเปิดทางให้ภารกิจเสร็จสิ้นใช้เวลา 33 นาที แบบไม่มีการปิดถนน ทุกคนแฮปปี้"
ส.ต.อ.เคนษิวัตร กายา ผบ.หมู่.งานฯ 2 กก.6 บก.จร. เล่าเสริมว่าในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาย้ำถึงความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ
"งานของเรา เป็นงานออกไปช่วยเหลือประชาชน ต้องแข่งกับเวลา ทางผู้บังคับบัญชาเน้นเรื่องปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และผู้โดยสาร กำลังพลทุกคนเข้ารับการฝึกอบรมด้านการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างถูกวิธีกับฮอนด้าเพื่อให้รู้หลักการแซง การเข้าโค้งและเบรก ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนเรื่องงานด้านซ่อมรถยนต์ ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ จะได้รับการฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกอบรมของโตโยต้ากับฮีโน่ เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจระบบการทำงานของเครื่องยนต์ตั้งแต่รถขนาดเล็กไปจนถึงรถใหญ่อย่างพวกรถบรรทุก รถเมล์ ยิ่งได้เรียนรู้ทุกปี เรายิ่งสนุก เวลาเจอเคสรถเสีย ก็แก้ปัญหาได้ไวขึ้น"
ยังมีภารกิจอื่นๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น เหตุลืมกุญแจในรถ เหตุน้ำท่วมขังพื้นผิวจราจร เพลิงไหม้รถจักรยานยนต์ ชายจะกระโดดสะพาน ด.ต.อารยะ ป้อมค่าย ผบ.หมู่.งานฯ 2 กก.6 บก.จร. เป็นหนึ่งในตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ ให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
"พอทราบเหตุแล้วอะดรีนาลีนหลั่ง ไม่ว่าพวกเราทำอะไรอยู่ รีบวิ่งไปที่รถ ใครมีอุปกรณ์อะไรมั่ง ไปๆๆๆ สตาร์ทเครื่อง เตะขาตั้ง บิดรถมอเตอร์ไซค์ขับไปที่เกิดเหตุ บางจุดไม่คุ้นเส้นทาง ชาวบ้านเห็นตำรวจก็บอกทาง พี่วินมอเตอร์ไซค์บางคนอาสาช่วยนำทาง
เคยได้รับแจ้งเหตุ ว่ามีชายอุ้มลูกจะกระโดดน้ำตาย เราตามไปในที่เกิดเหตุ เจอเขาเดินอยู่แถวนั้นพอดี บางทีคนเราเจอสังคมบีบรัดเสียจนหาทางออกให้ชีวิตไม่ได้ ยิ่งเห็นเด็กร้องไห้ เรายิ่งน้ำตาซึม ก็ค่อยๆ พูดให้กำลังใจในสิ่งที่เขาสิ้นหวัง กอดเขา จูงมือพามาที่ปลอดภัย
พอสถานการณ์คลี่คลายแล้วติดต่อหน่วยกู้ชีพให้ไปชานคนนี้ส่งบ้าน ซึ่งงานที่เราทำเสมือนเชิญน้ำพระราชหฤทัยของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปมอบให้ประชาชนที่พระองค์ท่านทรงห่วงใย เราไม่ลืมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เสื้อที่สวมใส่อยู่มีข้อความเราทำดีถวายในหลวง เป็นเครื่องเตือนใจ"
ช่วงโควิดระบาด รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว บ้านเมืองล็อกดาวน์ พ.ต.ท.ไพฑูรย์ คตกฤษณ์ กล่าวว่า ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง
"ช่วงนั้นคนอยู่บ้านกันหมด มีผู้ป่วยโควิดเยอะมาก หน่วยงานของเรานำส่งผู้ป่วย ส่งยารักษาตามที่พักอาศัย เพราะทุกชีวิตมีค่า เขารอด เขาหมดจากความทุกข์ เราก็มีความสุข เราทำงานแบบปิดทองหลังองค์พระปฏิมา ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เป้าหมายของการปฏิบัติงานตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริฯ เพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาทุกข์การนำโซเชียลมีเดียมาเป็นช่องทางติดต่อประสานงาน รวมทั้งงานวิทยากรบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษา ตามสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อขยายความช่วยเหลือประชาชนไปสู่ประชาชนให้ได้มากที่สุด"
ภาพ : วันชัย ไกรศรขจิต ศูนย์ภาพเนชั่น , ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ กองบังคับการตำรวจจราจร